ก.ล.ต.สั่งเปิดเงินเดือนผู้บริหารบจ.ใหม่

ก.ล.ต.สั่งเปิดเงินเดือนผู้บริหารบจ.ใหม่

ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ สำหรับบจ.ยื่นไฟลิ่งหลัง 1 เม.ย.2562 โดยเฉพาะให้เปิดเผยผลตอบแทนผู้บริหาร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจน และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินโครงการประเมินภาคการเงิน FSAP (Financial Sector Assessment Program - FSAP) ในช่วงปลายปี 2561 - ต้นปี 2562
สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ได้คำนึงถึงความพร้อมของตลาดทุน และไม่สร้างภาระต่อผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินควร โดยกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลในประเด็นสำคัญ อาทิ


(1) เพิ่มการเปิดเผยนโยบายและวิธีการกำหนดค่าตอบแทน รวมถึงโครงสร้างค่าตอบแทนผู้บริหาร และค่าตอบแทนค้างจ่ายที่เกิดขึ้นปีล่าสุด

(2) เปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงินให้ชัดเจนยิ่งขึ้นตามแต่ละหัวข้อที่กำหนด โดยระบุจำนวนเงินและระยะเวลาการใช้เงินโดยประมาณ

(3) เพิ่มข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและสหภาพแรงงาน

(4) เปิดเผยประวัติการซื้อขายและราคาย้อนหลังของหุ้น เช่น ราคาหุ้นและมูลค่าซื้อขายของแต่ละปีในช่วง 3 ปีล่าสุด และประวัติการโดนคำสั่งพักการซื้อขาย

(5) จัดทำงบการเงิน 3 ปีย้อนหลังและไตรมาสล่าสุด ตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งให้เปิดเผยรายการระหว่างกันย้อนหลัง 3 ปี
ทั้งนี้ เกณฑ์ข้อ (1) - (4) มีผลใช้บังคับกับการยื่นแบบคำขออนุญาตหรือแบบ filing ตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป สำหรับเกณฑ์ข้อ (5) มีผลใช้บังคับกับการยื่นแบบคำขออนุญาตหรือแบบ filing โดยใช้งบการเงินประจำปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป


นอกจากนี้ก.ล.ต. ได้ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีในต่างประเทศที่ต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีในเครือข่ายเดียวกันกับสำนักงานสอบบัญชีไทยด้วย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561


นายประกิด บุณยัษฐิติ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การปรับเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในแบบ filing จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนผู้บริหาร งบการเงินและรายการระหว่างกัน วัตถุประสงค์การใช้เงิน และช่วยให้ประเมินความสามารถของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับมาตรฐานของ IOSCO ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตลาดทุนไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วย