ทูตไทยในย่างกุ้งแนะโอกาสนักลงทุนไทย

ทูตไทยในย่างกุ้งแนะโอกาสนักลงทุนไทย

ท่ามกลางแรงกดดันจากชาติตะวันตก กรณีปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่และผู้อพยพชาวโรฮิงญา ทำให้ภาพลักษณ์ของเมียนมาที่ปรากฏในหน้าสื่อตะวันตกดูย่ำแย่ ไม่น่าไว้วางใจและไม่ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงเป็นเช่นไร หาคำตอบได้จากอัคราชทูตไทยประจำย่างกุ้ง ในรายงานชิ้นนี้

นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ อัครราชทูตไทยประจำย่างกุ้ง กล่าวว่า ต้องอย่าลืมว่า ในความเป็นจริงแล้ว เมียนมาเพิ่งเปิดประเทศเมื่อปี 2554 ภายใต้รัฐบาลเต็ง เส่ง หลังจากโดดเดี่ยวตัวเองมานาน กว่า 50 ปี ทำให้เกิดภาวะชะงักงัน แต่รัฐบาลเมียนมาตระหนักดีว่าต้องเปิดประเทศ ทำการค้าขายกับโลกภายนอก เมื่อเปิดประเทศ เมียนมาก็กลายเป็นประเทศเนื้อหอม ประเทศต่างๆทั้งสหรัฐ ประเทศในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต่างต้องการเข้ามาลงทุน ทำให้ความคาดหวังของประเทศเหล่านี้ที่มีต่อเมียนมาสูงตามไปด้วย

ทูตไทยประจำย่างกุ้ง กล่าวว่า เมียนมา เป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในแง่ของความเป็นตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 53 ล้านคน เป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแหล่งพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน มีทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และที่สำคัญเมียนมาเป็นแหล่งอัญมณีมีค่าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

“แน่นอนว่า การเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากปิดตัวเองไปนานกว่า 50 ปีของเมียนมา ย่อมมีความล่าช้าในการดำเนินการด้านต่างๆ โดยเฉพาะระบบราชการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น การแก้ไขเรื่องต่างๆจึงไม่สามารถให้ผลลัพธ์ได้ในเร็ววัน”นายณรงค์ กล่าว

นายณรงค์ ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาตระหนักดีว่าต้องเร่งปรับปรุงปัญหาสำคัญ 3 ด้านคือ 1. ปฏิรูปเศรษฐกิจ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เพราะปัจจุบัน หลายพื้นที่ในเมียนมา ยังประสบปัญหากระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลลบอย่างมากต่อการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม และท้ายที่สุด จะทำให้การลงทุนของต่างชาติในเมียนมาชะลอตัวลงไปบ้าง และ3.ออกกฏหมายใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติโดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เมียนมา ประกาศใช้กฏหมายใหม่ ให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 35% ในการเป็นเจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในเมียนมา ซึ่งจะได้สิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินถาวรในเมียนมา

เมียนมา ได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในเมียนมา (เอ็มไอซี) ที่มีนายอ่อง นาย อู เป็นเลขาธิการ ซึ่งเอ็มไอซี มีกฏหมายสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 โซนหลักคือ โซนที่1 เป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนามีทั้งสิ้น 156 เมือง จะได้รับการยกเว้นภาษี (Tax Holiday)นาน 7 ปี โซนที่ 2 คือ พื้นที่พัฒนาระดับกลาง ได้รับการยกเว้นภาษีนาน 5 ปี และโซนที่ 3 คือพื้นที่เมืองที่พัฒนาแล้ว ได้รับการยกเว้นภาษีนาน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ทูตไทยประจำย่างกุ้ง ยอมรับว่า มาตรการยกเว้นภาษีของรัฐบาลเมียนมา ยังไม่สมดุลนัก เช่น ในรัฐซึ่งมีพื้นที่ติดชายแดนไทย-เมียนมา เป็นพื้นที่ที่ถือว่าห่างไกลจากย่างกุ้งมาก แต่รัฐบาลเมียนมา ก็ต้องการส่งเสริมการลงทุนในรัฐยะไข่ด้วย ขณะที่นักลงทุนไทย ยังไม่มั่นใจที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว ต้องคิดมากหน่อยที่จะย้ายฐานการผลิตไปรัฐยะไข่ แต่หากเป็นพื้นที่ติดชายแดน ไม่มีปัญหา เพราะกลุ่มนักลงทุนไทยมีระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือระบบซัพพลายเชนที่ช่วยสนับสนุน

“นอกจากสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในเมียนมา เพราะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา หรือในเมียนมาแทบไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ เรายังพยายามผลักดันให้มีการค้าด้วยสกุลเงินบาทและสกุลเงินจัตโดยตรง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการแปลงสกุลเงิน เพราะในความเป็นจริงแล้ว การค้าชายแดนไทย-เมียนมามีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ซึ่งรัฐบาลเมียนมา กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอจากรัฐบาลไทยในประเด็นทำการค้าด้วยสกุลเงินบาทและเงินจัตโดยตรง”ทูตไทย ประจำย่างกุ้ง กล่าว

ทั้งนี้ ปริมาณการค้าไทย-เมียนมา เมื่อปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และในช่วง5เดือนแรกของปีนี้คือช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. มูลค่าการค้าไทย-เมียนมา เพิ่มขึ้น 500 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นตัวเลขที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ไทย-เมียนมา เปิดการค้าชายแดน 4 จุด และในอนาคตจะเปิดเพิ่มอีก 2 จุด

ไทย ลงทุนในเมียนมาสูงสุดอันดับ 3 รองจากจีน และสิงคโปร์ โดยที่ไทยพยายามหาโอกาสเข้าไปลงทุนร่วมกับเมียนมาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน อาทิ การวางโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำ วางโครงข่ายเคเบิ้ลออพติก และการทดลองเครือข่าย 5 จี ภายในช่วง2-3ปีนี้

ส่วนความคืบหน้าในประเด็นผู้อพยพชาวโรฮิงญา ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ (11พ.ย.)ที่ผ่านมานายวิน เมียต เอย์ รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์และตั้งถิ่นฐานของเมียนมา เปิดเผยว่า รัฐบาลบังกลาเทศ ได้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่เมียนมาว่า การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับเมียนมา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศตกลงกันในหลักการเมื่อหลายเดือนก่อน จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันพฤหัสบดี (15 พ.ย.)เป็นต้นไป โดยจะมีการส่งกลับชาวโรฮิงญาชุดแรกจำนวน 2,251 คน ในอัตราเฉลี่ยวันละ 150 คน