​ทางออก 'รถเมล์จอดแช่ป้าย' เมื่อปัญหาไม่ได้อยู่แค่คนขับ

​ทางออก 'รถเมล์จอดแช่ป้าย' เมื่อปัญหาไม่ได้อยู่แค่คนขับ

​ทางออก "รถเมล์จอดแช่ป้าย" เมื่อปัญหาไม่ได้อยู่แค่คนขับ ผู้ประกอบการ ชี้ต้นเหตุจากค่าโดยสาร

นักศึกษานิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานประชุมเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “การแก้ปัญหาการจราจร กรณีรถเมล์หรือรถมินิบัสหยุดรอผู้โดยสารบริเวณป้ายหยุดรอรถประจำทางควรหาทางออกอย่างไรให้เกิดผลดีอย่างยั่งยืน” กรณีตัวอย่างของมินิบัสสาย 71 จอดแช่ป้ายเพื่อหยุดรอผู้โดยสารบริเวณตลาดปัฐวิกรณ์ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงพบว่า ประชาชนในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการจราจรติดขัด และไม่มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เนื่องจากต้องใช้ช่องทางเดินรถถัดไปหนึ่งช่องจราจรเพื่อรับบริการรถโดยสารสายอื่นๆ รวมไปถึงรถโดยสารสายอื่นๆ ไม่สามารถจอดเข้าป้ายได้ ส่งผลกระทบในวงกว้าง

ที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่างๆ อาทิ ขสมก., สายด่วนจราจร 1197, กรมการขนส่ง, จส.100 , โซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ระเบียบองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ว่าด้วยการบริหารจัดการและกำกับดูแลรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ พ.ศ. 2550 กล่าวว่า นิติบุคคลที่เข้าร่วมเดินรถต้องมีอู่จอดรถและสำนักงาน ซึ่งมีพื้นที่จอดรถให้เพียงพอกับจำนวนรถที่เข้าร่วมเดินรถกับองค์กร มีท่าต้นทางและปลายทางที่เหมาะสม และไม่กีดขวางการจราจรในเส้นทางตามใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามข้อ 9.2 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบว่า ท่าปล่อยรถมินิบัสสาย 71 จะอยู่ห่างออกไปพอสมควร ซึ่งคนขับอาจกลัวเสียเวลาในการรับผู้โดยสาร จึงนิยมมาจอดรอในพื้นที่ดังกล่าว

ผู้ประกอบการ ชี้ต้นเหตุจากค่าโดยสาร

ภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง อธิบายว่า ปัญหาหลักๆ คือ เขาต้องการรายได้ที่มากขึ้น กำหนดปล่อยรถมีอยู่แล้ว แต่สภาพเมืองไทยรถติดมาก วันนี้เราเป็นจำเลยสังคมทั้งเรื่อง รถเก่า สกปรก รถเสีย เพราะค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน ที่ผ่านมาบริษัทรถร่วมทั้งสามสิบกว่าบริษัท มานั่งคุยกันเพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียว การพัฒนาการเดินรถต้องกู้เงินเป็นพันล้าน แต่รัฐบาลไม่อนุมัติเรื่องค่าโดยสาร ดังนั้น การแก้ปัญหาที่แท้จริง คือการจูงใจคนให้มาใช้รถสาธารณะ เพราะมินิบัสเขาส่งรถเดือนละ 30,000 บาท เขาจึงต้องคิดว่าวิ่งรถอย่างไรเพื่อให้คุ้มเงิน ปัญหาใหญ่ไม่ได้มาจากพวกเรา แต่อยู่ที่ค่าโดยสาร

ด้าน สมาน และ กิตติยา ท้วมวงษ์ ผู้แทนจาก บริษัท สมาพันธ์การเดินรถ จำกัด เปิดเผยว่า จริงๆ แล้ว ปัฐวิกรณ์ ไม่ได้มีเฉพาะมินิบัส แต่มีทั้งแท็คซี่ รถส่วนบุคคลจอดลงของ แต่มินิบัสจะจอดเฉพาะช่วงสาย ปัญหาของคนขับ ที่จอดแช่ป้าย คือ เขาต้องการได้ตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้น เพราะเขาจะได้ผู้โดยสารตั้งแต่ตลาดปัฐวิกรณ์ไปถึงบางกะปิ หลังจากนั้นเป็นของสองแถว ถ้าไปทางคลองตันก็จะเป็นซูบารุที่วิ่งทับเส้นทาง อีกปัญหาคือ รถติด ทำให้ค่าตั๋วไม่พอค่าเช่า และในด้านของผู้ประกอบการ ถ้าเขาโดนค่าปรับ ผู้ประกอบการเป็นคนรับทุกอย่าง

“เราทั้งโดนจับและร้องเรียน จนเกิดความเครียด เพราะเคยบอกลูกน้องว่า ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะค่าปรับจากขสมก. หรือตำรวจ ปัญหาเคยแก้ไปแล้วด้วยการจ้างคนมายืนคุม แต่สาย 71 มีหลายบริษัท และควบคุมยาก ต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยในเรื่องการรวมบริษัทเพื่อหาทางออกร่วมกัน”

ทั้งนี้ รถร่วมมินิบัสสาย 71 มีผู้ประกอบการกว่า 7 บริษัท จดทะเบียนในการเดินรถ จำนวน 72 คัน เดินรถจริง 56 คัน เส้นทางตลาดปัฐวิกรณ์ ถึง วัดธาตุทอง

รณรงค์ให้คนหันมาใช้รถสาธารณะ

สมชัย ราชแก้ว หัวหน้าฝ่ายตรวจการ กองตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูหลายอย่าง ขสมก. มีหน้าที่จัดการให้การเดินรถเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ถ้าเป็นผู้ประกอบการเอกชน ก็ให้แบ่งเวลาว่าเที่ยวเช้าควรออกกี่โมง ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถ้าจะให้ตามจับทุกวันสงสารตำรวจ การจะแก้ปัญหาต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย คือ กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้ประกอบการ รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้คนใช้รถสาธารณะมากขึ้น ในขณะที่เร่งสร้างรถไฟฟ้า แต่รถส่วนตัวก็ไม่ได้น้อยลง กลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก การไปไล่จับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องดูผู้ร่วมใช้ถนน และกายภาพถนนด้วย และควรให้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น

กทม. ชี้ทำช่องเว้า เลนส์บัส ได้หากเร่งด่วน​

​ศุภมิตร ลายทอง หัวหน้ากลุ่มงานเครื่องหมายจราจร 1 สำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักงานการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เครื่องหมายห้ามจอด เป็นเครื่องหมายขอบสีขาวสลับเหลือง หมายความว่าห้ามจอดรถทุกชนิด เว้นแต่การรับส่งคน เพราะฉะนั้น ถ้าจอดแช่จับได้เลย ในส่วนของการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะทำช่องเว้า บัสเลนส์ หรือป้ายห้ามจอด สามารถบังคับใช้ได้โดยตกลงร่วมกันกับกทม. โดยการตกลงร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ที่มาบุญครอง ซึ่งเจอปัญหานี้ ทางห้างจึงออกเงินให้ สสส. ออกแบบพื้นที่ให้เป็นที่จอดรถที่ชัดเจน และจังหวัดนนทบุรีก็ทำหมดแล้ว นอกจากนี้ ทางห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ก็ทำช่องเว้าให้รถเมล์จอดได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องมีพื้นที่เพียงพอ และในกรณีพื้นที่ตลาดปัฐวิกรณ์ ก็ต้องมาคุยกันกับตลาดว่ายอมเสียพื้นที่หรือไม่ เพราะรถเมล์ 2 เมตร และทางเท้าจะหายไปเลย ถ้าตลาดยอมก็จะเป็นวิธีทางที่ดีและเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ​

พรทิพย์ คำเครือคง หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กองตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยในฐานะตัวกลางระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการว่า จากสถิติในเรื่องร้องเรียน ความจริงแล้วปัญหาอันดับหนึ่งที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดคือ ขับรถหวาดเสียว สอง คือ แสดงกิริยาไม่สุภาพ ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากความเร่งรีบ อันดับสาม คือ การไม่หยุดจอดรับผู้โดยสาร และอันดับสี่ คือ การจอดแช่ป้าย ซึ่งเราได้ประสานงานกับขสมก. เพื่อทำความเข้าใจกับคนขับและเรียกมาอบรม ปรับ โดยมีสถิติของแต่ละคนว่ามีการร้องเรียนกี่ครั้งและปรับไปตามจำนวนร้องเรียน ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่คนโทรมา 1584 จะให้แจ้งสถานที่เกิดเหตุเพื่อวิเคราะห์สถิติด้วย เราอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ได้และประชาชนปลอดภัย ถ้ามีความเข้าใจกันทุกฝ่าย การบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่ต้องมี

ด้าน ชีวิต ณ สงขลา ตัวแทนประชาชน ให้ความเห็นว่า ผมเห็นใจทุกท่านและค่อนข้างเห็นใจตัวเองด้วย ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องผ่อนรถ วันนี้อยากจะนั่งรถสาธารณะเหมือนกันถ้ามันปลอดภัย แต่ความปลอดภัยของรถไม่เพียงพอจึงเลือกใช้รถส่วนตัว อยากจะให้เราสตาร์ทในจุดเดียวกัน คือ กฎหมาย ส่วนจะแก้ไขอย่างไรก็ต้องมาคุยกันต่อ เร็วที่สุด คือ การไม่จอดแช่ป้าย จะทำให้การจราจรไม่ติดขัด และต่อมาเราจะมานั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อ