ยุทธศาสตร์วิจัยฯ ส่งไทยหลุดปท.รายได้ปานกลาง 10 ปี

ยุทธศาสตร์วิจัยฯ ส่งไทยหลุดปท.รายได้ปานกลาง 10 ปี

ไทยลุ้นงบวิจัยของประเทศแตะ 1% ของจีดีพีในปี 61 คาดจะเพิ่มเป็นเท่าตัวหรือ 2% ในอีก 7 ปีข้างหน้า แซงหน้ามาเลเซียขึ้นอันดับสองของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ เพิ่มโอกาสหลุดกรอบประเทศรายได้ปานกลางใน 10 ปี ด้าน สวทน.ชี้โอกาสความสำเร็จมีสูง

หากภาครัฐและเอกชนเดินตามแผนยุทธศาสตร์วิจัยฯ 20 ปี

การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำและกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา รวมถึงทำให้ประเทศสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ 2560-2579)

ชงรัฐเพิ่มงบวิจัยสร้างดีพเทค

กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า งบวิจัยของประเทศในปี 2559 อยู่ที่ 0.78% ของจีดีพี คาดว่าจะถึง 1% ในปี 2561 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งอัตราการเพิ่มเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะถึง 2% ของจีดีพีภายใน 7 ปีหรือในปี 2568 ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเกาหลีใต้และจีน ที่เติบโตแบบทวีคูณ ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

งบวิจัย 1% ของไทยนั้นนับว่าเป็นที่ 3 เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีงบวิจัย  2.26% ของจีดีพี ซึ่งเป็นที่ 1 ของอาเซียน ตามมาด้วยมาเลเซีย 1.23% ของจีดีพี แต่ภายในปี 2562 ไทยจะตามทันมาเลเซียหากรัฐและเอกชนมีแรงผลักอย่างต่อเนื่อง และจะสามารถแซงมาเลเซียขึ้นเป็นอันดับที่ 2 หากไทยสามารถทำได้ 2% ของจีดีพีใน 7 ปีหน้า  

สัดส่วนงบวิจัยระหว่างภาครัฐกับเอกชน 30:70 แม้ส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชนแต่เป็นสัดส่วนที่สมดุล โดยงบวิจัยภาคเอกชนนั้นเกือบทั้งหมดมุ่งไปที่งานวิจัยประยุกต์และนวัตกรรม ในขณะที่ภาครัฐจัดสรรงบ 2 ส่วนคือ การวิจัยเชิงประยุกต์และการวิจัยพื้นฐาน 

“ที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันสัดส่วนงบวิจัยของภาครัฐกว่า 85% ทุ่มไปที่การวิจัยเชิงประยุกต์หรือการวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เลย ขณะที่การวิจัยพื้นฐานมีเพียง 15% ซึ่งแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่สัดส่วนงบวิจัยของรัฐเป็น 50:50 เนื่องจากงานวิจัยพื้นฐานเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีขั้นสูงหรือดีพเทค 

หากไม่มีงานวิจัยพื้นฐาน ดีพเทคก็จะไม่เกิด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงเริ่มผลักดันให้เกิดฟรอนเทียร์รีเสิร์ช (Frontier Research) เพื่อสร้างองค์ความรู้และดีพเทค เพราะการวิจัยทั้ง 2 ส่วนมีความสำคัญ และต้องอยู่ในสัดส่วนที่สมดุลเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ไปได้ไกล ดังนั้น การจะเพิ่มงบการวิจัยพื้นฐานให้ได้ถึง 50% โดยไม่ลดงบการวิจัยประยุกต์และนวัตกรรมที่มีน้อยอยู่แล้ว รัฐบาลต้องเพิ่มงบวิจัยประเทศนั่นเอง 

งบวิจัยประเทศที่เป็นของภาครัฐในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท ในส่วนของงบที่ สวทน. และ วช. ดูแลเรียกว่า แผนบูรณาการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งปี 2562 อยู่ที่ 15,778 ล้าน แบ่งเป็น 4 เป้าตามแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (2560-2579) คือ เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, เพื่อการสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน และการพัฒนาโครงสร้่งพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

แผนยุทธศาสตร์ฯ สร้างรายได้

แผนยุทธศาสตร์ฯตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี2579 ซึ่งในขณะนี้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ(พ.ศ. 2560-2579) อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒานาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอต่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

 ทั้งนี้ เมื่อการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เสร็จสิ้น จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ พร้อมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯโดยมีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว

โครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์ฯประกอบด้วย “ประเด็นยุทธศาสตร์”ซึ่งประกอบด้วย “แผนงานวิจัยและนวัตกรรม”แต่ละแผนงานได้กำหนดขอบเขตของแผนงานนั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผน ในระดับแผนแม่บทจนถึงแผนปฏิบัติการต่อไปขอบเขตของแผนงานนั้นๆ ครอบคลุมถึงการวิจัยเชิง นโยบาย (Policy research) ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายได้

 แผนงานในยุทธศาสตร์ที่ 1 และ 2 เป็น “แผนงานวิจัยและนวัตกรรมสำคัญ"(Spearhead research and innovation program)ที่จะถูกให้ความสำคัญในช่วงระยะเริ่มต้นของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯเพื่อให้มีผลลัพธ์ในระยะ 3-5 ปี

แผนยุทธศาสตร์ฯตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี2579โดยในช่วงระยะ 5 ปีแรก จะดำเนินการปรับโครงสร้างและหน้าที่ของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมให้มีการแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯให้ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล