‘อินเทอร์เน็ต โซไซตี้’ กับพันธกิจท้าทาย ‘สังคมไซเบอร์’

‘อินเทอร์เน็ต โซไซตี้’ กับพันธกิจท้าทาย ‘สังคมไซเบอร์’

เน็ตเวิร์คอินฟราสรักเจอร์ที่ต้องพัฒนา กติกาที่ต้องทำร่วมกันเพื่อสังคมอินเทอร์เน็ตที่เดินไปข้างหน้าอย่างถูกทาง

“โลกอินเทอร์เน็ตยังคงพัฒนาไปข้างหน้าไม่หยุด แน่นอนว่านอกจากสร้างโอกาสและประโยชน์อย่างมหาศาล อีกทางหนึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นมีอยู่จำนวนมากและหลากหลายแง่มุม”

แอนดรูว์ ซัลลิแวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินเทอร์เน็ต โซไซตี้(Internet Society; ISOC) องค์กรไม่แสวงกำไรระดับโลกผู้ทำหน้าที่ผลักดันการใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าว

ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน ผู้ให้บริการต่างๆ รวมถึงผู้ใช้งานทั่วไปต้องหันมาร่วมมือกันทำให้สังคมแห่งอินเทอร์เน็ตเดินไปข้างหน้าอย่างมีมาตรฐาน และที่ต้องให้ความสำคัญยังมีประเด็นการสร้างความปลอดภัยบนระบบเครือข่าย การสร้างความเท่าเทียม เปิดกว้างมากที่สุดสำหรับทุกคน

เขากล่าวว่า บทบาทของอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ โรดแมพที่วางไว้ประกอบด้วย การขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างมาตรฐาน ทำให้เกิดสังคมอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง ผลักดันการพัฒนาทางเทคโนโลยี อินฟราสตรักเจอร์ ประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับแวดวงธุรกิจ การใช้ชีวิต ผลักดันงานที่จะทำให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ พร้อมๆ ไปกับทำงานร่วมกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ เพื่อทำให้สังคมอินเทอร์เน็ตเกิดการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง

“เรายังคงมุ่งสนับสนุนการทำงานเรื่องมาตรฐาน การศึกษา และนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ของทุกคนในโลก แผนงานปี 2562 เตรียมร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งระดับโลกและท้องถิ่นเพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่อข่ายให้ดีขึ้น มีความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ผู้บริการรายเล็กๆ มีที่ยืน ไม่ถูกกีดกันทางการค้าจากรายใหญ่ ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าจะส่วนสำคัญทำให้การเข้าถึงของประชาชนขยายตัวไปกว้างมากขึ้น”

ความเชื่อมั่นคือกุญแจ

เขากล่าวว่า โจทย์ที่ท้าทายอย่างมากคือ การสร้างความเข้าใจระดับท้องถิ่น ทำอย่างไรจะให้เกิดความเชื่อมั่น ทำอย่างไรจะสามารถนำประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตไปช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าบนความพร้อมของเน็ตเวิร์คที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี การเชื่อมต่อและบริการที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตต้องเชื่อถือได้ การเชื่อมต่อต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ถูกช่องทาง เป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต่างๆ ต้องให้ความสำคัญ มิเช่นนั้นต่อไปหากไม่มีความปลอดภัยผู้คนก็จะเลิกใช้งาน

ที่ผ่านมา เรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์นั้น หากมองที่มุมของภาครัฐมักแก้ปัญหาโดยการเข้าไปควบคุม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่ชอบใจ ดังนั้นมีความจำเป็นที่ต้องหากติกาที่ช่วยสร้างความสมดุล เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน ขณะเดียวกันป้องกันภัยร้าย ข่าวปลอมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยภาพรวม

ขณะที่ การสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันให้คนทุกคนมีโอกาสถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นคือกุญแจที่จะทำให้โอกาสที่มีอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกคน สำคัญต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเพื่อการสื่อสาร บริการบนออนไลน์ คอมเมิร์ซ บริการภาครัฐ และการพัฒนาทางสังคม

“เราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตคือกุญแจที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตมนุษย์ ทว่าทุกวันนี้คนที่เข้าถึงได้มีสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของโลกเท่านั้น”

หนุนไทยผู้นำระดับอาเซียน

ราจเนส ดี ซิงห์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ เผยว่า ได้ร่วมทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย รวมถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทางผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างเปิดกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น จึงตั้งความหวังได้ว่าต่อไปน่าจะเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ

ซิงห์มีมุมมองด้วยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ อินฟราสตรักเจอร์มีความพร้อม และขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค ดังนั้นน่าจะสามารถขึ้นไปเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนงานระดับภูมิภาคได้

ส่วนของอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ เดินหน้าทำงานกับทุกภาคส่วน ปัจจุบันพันธมิตรที่มีครอบคลุมองค์กรภาครัฐ องค์กรระดับประเทศ นานาชาติ ภาคประชาสังคม เอกชน ทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ 

“อินเทอร์เน็ตมีผลกระทบกับทุกคน เราจึงต้องทำงานร่วมกับคนทั่วโลกเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งภาคสังคม การค้า และด้านนโยบายมีความสอดคล้อง เปิดกว้าง สามารถสร้างประโยชน์ได้ในวงกว้าง”