ย้ำ! ยื่นแสดงทรัพย์สินเป็นไปตามกม.ต้องปฎิบัติตาม

ย้ำ! ยื่นแสดงทรัพย์สินเป็นไปตามกม.ต้องปฎิบัติตาม

CHES ยื่นหนังสือถึงนายกฯ หนุนป.ป.ช.ผู้บริหาร-กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งยื่นแสดงทรัพย์สิน หวั่นท่าทีสนช.-ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ ชี้มหาวิทยาลัยเป็นเสาหลักของสังคม ไม่ควรบ่ายเบี่ยงไม่ทำตามกม. ลั่นการบริหารมหาวิทยาลัยมีโอกาสเกิดการทุจริตทางนโยบาย

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.61 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES นำโดย นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอสนับสนุนประกาศของ ป.ป.ช. เรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหาร และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า จากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) , ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อขอให้ทบทวนประกาศ ป.ป.ช.เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยระบุว่า กรรมการสภาอนุมัติเพียงหลักสูตร ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประชาคมและประชาชนรู้สึกกังวลใจต่อท่าทีดังกล่าว เพราะมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนเสาหลักของสังคม เป็นผู้ที่จะสร้างบรรทัดฐานแห่งความดีงามให้เกิดขึ้นกับสังคม แต่กลับเป็นผู้บ่ายเบี่ยงที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง เป็นการแสดงความเป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือกฎหมาย และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีงามต่อนิสิตนักศึกษาที่เฝ้าดูเรื่องราวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้นำรายชื่อบุคลากร จำนวน 1,360 ราย ที่สนับสนุนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต่อนายกรัฐมนตรีด้วย

นพ.สุธีร์ กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบไปแล้ว แต่ยังจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน มาให้เหมือนเดิม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ควบคุมอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จในทุกระดับ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ อยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารระดับสูง กับผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่เป็นหัวเรือใหญ่เครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ด้วยสภาพการแบบนี้ จึงมีโอกาสเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้ ส่วนในระดับหน่วยงานตาม คณะ สาขาวิชา ต่างๆ ผู้บริหารส่วนนี้ก็สามารถจะกระทำทุจริตคอรัปชั่น เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้างต่างๆ ได้ง่ายมาก เพราะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานล้วนเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นไป เรื่องก็เงียบ คนร้องเรียนจะอยู่ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษา จะไม่โกง สำหรับตัวอย่าง วิธีหาผลประโยชน์ของผู้บริหารและกรรมการสภาฯ เช่น ร่วมกันออกนโยบายเอาทรัพย์สิน รายได้ของมหาวิทยาลัยไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ เปิดสัมปทานภายใน เช่น เดินรถให้เอกชนที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ บางคนเป็นหุ้นส่วน สร้างโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมามากมาย การแจกโควตาที่นั่งเด็กนักเรียนสาธิต ให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกปี ใครช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากก็ให้มาก มีการล็อคสเป็คซื้อของพรรคพวกตน ขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนให้พวกกันเอง กันอย่างเต็มที่ ถ้าเงินงบประมาณไม่พอก็ขึ้นเงินค่าเล่าเรียน ไม่มีใคร กล้าเข้าไปตรวจสอบ เก็บหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะกลัวมาก เพราะอาจถูกประเมินไล่ออกได้ง่ายมาก ดังนั้น การที่ ปปช. ออกประกาศให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภาฯทุกคน ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริต คอรัปชั่นได้ทางหนึ่ง ซึ่งความจริง ยังต้องหามาตรการอื่นๆ เพิ่มอีก หลายมาตรการ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัย จะลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับ ป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนกรณีที่พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ว่า จะขยายเวลาในการบังคับใช้ประกาศจากวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ไปอีก 60 วัน หากติดขัดปัญหา ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่คิดว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการตัดสิน ซึ่งคงต้องว่ากันตามกฎหมายว่ามีการกำหนดอย่างไรต้องปฏิบัติตาม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจที่จะไปดำเนินการอะไรได้

ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะลาออกจากตำแหน่ง คิดว่าการลาออกต้องว่ากันไปตามกฎหมาย เรื่องการลาออกหรือการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ใช่อำนาจของ รมว.ศธ. ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย