วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (12 พ.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (12 พ.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากอุปทานล้นตลาด ขณะที่นักลงทุนกังวลต่ออุปสงค์ที่ชะลอตัวลง

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณอุปทานในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสได้ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน ซึ่งเป็นระยะเวลานานที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 2527 เป็นต้นมา

- ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย ก็ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งมีปริมาณมากกว่าปริมาณน้ำมันดิบของอิหร่านที่ลดลงไปจากการคว่ำบาตร โดยมีกำลังการผลิตรวมถึง 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลก

- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2561 และ 2562 ลดลงปีละ 0.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะปรับตัวลดลงจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ปรับคาดการณ์ปริมาณอุปทานน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมา

- Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 9 พ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12 แท่น ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนแท่นขุดเจาะทั้งหมด 886 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558

ราคาน้ำมันเบนซิน  ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.75 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีปริมาณอุปทานเพิ่มมากขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันได้เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นในช่วงที่มีค่าการกลั่นอยู่ระดับดี

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่อาจล้นตลาด หลังสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ประกอบด้วย จีน อินเดีย กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ สามารถนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร
  • จับตาการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้หรือไม่ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน เตรียมหารือร่วมกันนอกรอบในการประชุดสุดยอดผู้นำโลก G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ในปลายเดือน พ.ย. นี้

---------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999