“ศาสนา-การศึกษา”เครื่องมือผูกสัมพันธ์ยั่งยืนไทย-เมียนมา

“ศาสนา-การศึกษา”เครื่องมือผูกสัมพันธ์ยั่งยืนไทย-เมียนมา

ไทย ยังคงเดินหน้าใช้กุศโลบายด้านวัฒนธรรม ศาสนาและการศึกษาเป็นเครื่องมือผูกสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับเมียนมา ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่าง “ประชาชนต่อประชาชน”ติดตามความคืบหน้าการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยกับเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกันได้จากรายงานชิ้นนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พ.ย.กระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายณ.วัดฉิ่น ซะลูน พะยาจี เมืองทวาย  เมืองหลวงของภาคตะนาวศรี ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ร่วมกับสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ ที่มีนายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ เป็นนายกสมาคมฯ 

นายบัณฑิต ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำกิจกรรมด้านศาสนาและการศึกษาของสมาคมฯ โดยกล่าวถึงเหตุผลของการตั้งสมาคมมิตรภาพกับบรรดาเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน อาทิ สมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ สมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ว่า "เป็นเพราะกระทรวงต่างประเทศต้องการกระชับความสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง ในช่วงที่ความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านไม่ราบรื่นนัก จึงคิดกันว่า สิ่งใดที่ราชการไม่สามารถพูดตรงๆกับประเทศเพื่อนบ้านได้ น่าจะใช้ประโยชน์จากสมาคมฯให้พูดแทนได้ ถือเป็นนโยบายที่ดีและถูกต้อง ประกอบกับที่ผ่านมา สมาคมฯได้ทำงานผ่านผ่านกลไกความร่วมมือระหว่าง ประชาชนต่อประชาชน อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง"

นายบัณฑิต กล่าวว่า การช่วยเหลือด้านศาสนาและการศึกษาแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมที่สุด พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่ริเริ่มโครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ.วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2538 โดยมีเป้าหมายใช้รากฐานร่วมทางวัฒนธรรมของไทยกับมิตรประเทศเป็นเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในระดับประชาชนด้วยกัน ตลอดจนเผยแพร่พระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา

“ที่พม่าเราจึงใช้ช่องทางนี้ในการผูกสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเราก็เห็นความสำเร็จที่ลาว ซึ่งสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพทำได้ดีมาก จนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน มีความสนิทสนมกับรัฐบาลลาวเป็นอย่างดี ส่วนที่ทวาย ที่สมาคมฯร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานมาทอดถวายในครั้งนี้ ก็เป็นบ้านเกิดของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไลง์ ซึ่งปัจจุบันคือผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทัพเมียนมา”นายกสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ กล่าว

ทั้งนี้ เป็นเวลา 25 ปีแล้ว ที่สมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างไทยและลาว ร่วมกับสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประชาชนต่อประชาชน นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 โดยการผลักดันของกระทรวงการต่างประเทศ

จนถึงทุกวันนี้ สมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ยังคงทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ กีฬา วัฒนธรรม และวิชาการ

นายบัณฑิต กล่าวด้วยว่า นอกจากร่วมอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานมาถอดถวายที่วัดในเมืองทวายแล้ว สมาคมฯยังสร้างห้องเรียนเพิ่มเติม4 ห้องให้แก่โรงเรียนประจำหมู่บ้านเมียวฮอง ซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นที่ตั้งของวัดฉิ่น ซะลูน พะยาจี ที่ฝ่ายไทยนำผ้าพระกฐินมาทอดถวาย ตามการร้องขอของสะยาดอว์  ภัททันตะ วิเศษ สา ระ เจ้าอาวาสวัดฉิ่น ซะลูน พะยาจี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจำนวน 900,000 บาท จากนายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการสนับสนุนในรูปแบบอุปกรณ์ เครื่องใช้ประเภทต่างๆรวมทั้งเงินสมทบจากบรรดานักธุรกิจ และสมาชิกในสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ

นายกสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ กล่าวว่า สมาคมฯมีโครงการในระยะอันใกล้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้แก่ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งรวมถึง การทำสนามฟุตบอล  ปรับปรุงทางเดินเข้าห้องเรียนของโรงเรียนแห่งนี้  ซึ่งปัจจุบัน เป็นดินลูกรังสีแดง และสนับสนุนให้มีครูสอนภาษาไทยให้แก่เด็กนักเรียน หรือ ชาวบ้านในท้องถิ่นที่สนใจเรียนภาษาไทยนอกเวลาเรียน 

 “เราทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในนามสมาคมฯ จะง่ายกว่าและเหมาะสมกว่าเพราะเมื่อทำเสร็จแล้ว ทางการเมียนมาก็รับทราบในสิ่งที่สมาคมฯซึ่งถือเป็นตัวแทนประเทศไทยทำให้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะหากให้การช่วยเหลืออย่างไม่ระมัดระวังอาจถูกตีความว่าเราดูถูกเขาได้ แต่นี่เป็นการร่วมมือกันระดับประชาชนกับประชาชน รวมถึง นักธุรกิจไทยที่เข้ามาทำธุรกิจในนี้”นายบัณฑิต กล่าว

นายกสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ กล่าวปิดท้ายด้วยการพูดถึงโครงการระยะยาวในอนาคตของสมาคมฯว่า คือการแนะนำให้ชาวบ้านในชุมชนดำเนินชีวิตภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสมาคมฯมองว่ามีความเหมาะสมกับประชาชนในเมียนมามาก