'นิวอภิสิทธิ์' หรือ เหล้าเก่าในขวดเก่า ??

'นิวอภิสิทธิ์' หรือ เหล้าเก่าในขวดเก่า ??

อนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ "อภิสิทธิ์" จะเป็น "นิวอภิสิทธิ์" หรือจะเป็นแค่ "เหล้าเก่าในขวดเก่า" !!

แม้ฝ่ายหนุน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะลุ้นกันใจหายใจคว่ำว่าจะมีรายการพลิกล็อกหรือไม่ แต่สุดท้าย “อภิสิทธิ์” ก็ได้ไปต่อ

คะแนนในการกลับสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งของ “อภิสิทธิ์” คือ 67,505 คะแนน ห่างจากอันดับสองคือ “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ที่ได้มา 57,689 คะแนน ไม่ถึงหมื่นคะแนน นับได้ว่าเป็นตัวเลขที่ชวนให้ฝ่ายหนุนอภิสิทธิ์ใจหายใจคว่ำจริงๆ เพราะถือว่าคะแนนของหมอวรงค์มีไม่น้อยขณะที่มีตัวเลขคะแนนเสียที่ถูกตัดทิ้งไปมากถึง 32,462 คะแนน

ยิ่งนึกถึงภาพลายมือ “ชวน หลีกภัย” ผู้มีบารมีในพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมากระตุ้นให้สมาชิกพรรคออกมาใช้สิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรค ข้อความว่า “รักพรรคฯ รักประชาธิปไตย ต้องไปเลือกหัวหน้า” ยิ่งน่าคิดว่าหาก “ชวน” ไม่ออกมาจะเป็นอย่างไร

สำหรับ “อลงกรณ์ พลบุตร” ผู้สมัครอีกคน ได้คะแนนมา 2,285 คะแนน ก็ถือว่าเป็นไปตามคาดที่ถูกมองตั้งแต่ต้นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมสร้างสีสันให้เวทีแข่งขัน และเป็นโอกาสในการกลับสู่พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง

พรรคแตกหลังเลือกหัวหน้าพรรค?

คำถามสำคัญจากการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้จะก่อให้เกิดปัญหาถึงขั้นพรรคแตกหรือไม่ ถึงแม้ว่าระหว่างการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะมีการกระทบกระทั่งกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะฝ่ายหนุนอภิสิทธิ์กับฝ่ายหนุนหมอวรงค์

ดูเบื้องต้นจากสิ่งที่เกิดขึ้นหลังผลหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคไม่น่าจะส่งผลถึงขนาดทำให้พรรคแตก หลังรู้ผลหยั่งเสียงหมอวรงค์โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ผมยอมรับความพ่ายแพ้ครับยังยืนยันที่จะร่วมมือกับผู้ชนะครับ เพื่อพรรคประชาธิปัตย์และประเทศของเรา” และรุ่งขึ้นในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการหมอวรงค์และอลงกรณ์ก็ได้มอบดอกไม้แสดงความยินดีแก่อภิสิทธิ์ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

วิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงเหตุผลที่พรรคไม่น่าจะแตกไม่น่าจะมีใครแยกตัวออกไป ก็คือเรื่องการเลือกตั้ง ง่ายๆ ขนาด “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ยังไม่มีแกนนำ กปปส.คนไหนออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่กับสุเทพ ยกเว้นคนในตระกูล “เทือกสุบรรณ” เท่านั้น

นั่นน่าจะเป็นคำตอบได้พอสมควร และสำหรับ “อลงกรณ์” ก็น่าจะถือโอกาสนี้ในการกลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ออกไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายของคสช. และต่อมาได้เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อน

นิวอภิสิทธิ์ หรือเหล้าเก่าในขวดเก่า?

การขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหลังจากอยู่ในตำแหน่งนี้มา 4 วาระ นานกว่า 13 ปี น่าจะสร้างความแข็งแกร่งให้ “อภิสิทธิ์” เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ผ่านการเลือกโดยสมาชิกพรรคเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีพรรคประชาธิปัตย์มา 72 ปี และถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

แต่คำถามคือ “อภิสิทธิ์” จะใช้ความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นในการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างไร?

ภารกิจแรกของหัวหน้าพรรคคือการนำทัพสู้ศึกการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เหมือนที่ผ่านมา ที่บอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เหมือนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่คือบัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้ว ยังเป็นการเลือกตั้งที่ดูเหมือนเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่การชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นการชิงที่สองในสนามแข่งขัน

ตอนนี้ทุกฝ่ายมองเห็นตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะยังสามารถรักษาแชมป์ในการเลือกตั้งได้ ถึงแม้ว่าจะโดนกติกาของคสช.เตะตัดขา เพื่อไม่ให้สามารถมีส.ส.ได้รับเลือกตั้งมาถึงครึ่งคือ 250 เสียง จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์ “แตกพรรค” เพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด

“เป้าหมายของเราต้องเป็นพรรคอันดับสองให้ได้ คือเอาชนะพรรคพลังประชารัฐของฝ่าย คสช.ให้ได้” แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

สำหรับตัวเลขส.ส.ที่พรรคตั้งไว้คือ 150 แต่ถ้าให้นักวิเคราะห์การเมืองฟันธงก็น่าจะบอกว่าเป็นไปยากที่จะไปถึงเป้านั้น เทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด 11.4 ล้าน

คิดแบบง่ายๆ จากฐานคะแนนเดิม และนำตัวเลข 70,000 คะแนน ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนคะแนนเฉลี่ยต่อจำนวนส.ส. 1 คน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะได้ ส.ส.ออกมาที่ 162 คน (ครั้งที่แล้วได้ส.ส.มาทั้งหมด 159 คน คือ ส.ส.เขต 115 คน และส.ส.บีญชีรายชื่อ 44 คน)

แต่คำถามคือประชาธิปัตย์จะสามารถรักษาคะแนนทั้ง 11.4 ล้านเสียงเดิมไว้ได้หรือไม่?

คำตอบคือ ตอนนี้มีอย่างน้อย 2 ปัจจัยที่จะมา “บั่นทอน” คะแนนของประชาธิปัตย์

ปัจจัยแรกการก่อเกิดของ “พรรคพลังประชารัฐ” พรรคของฝ่าย คสช. และค่อนข้างชัดเจนว่าคงจะเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ น่าจะดูดคะแนนจากคนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไประดับหนึ่ง เพราะคนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนใหญ่ก็คือคนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง

ปัจจัยต่อมาการตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็จะมาแย่งฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไปเช่นกัน

การจะรักษาเดิมไว้ทั้งหมดจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยอมรับเช่นนั้น จึงมีการปรับเป้าลงว่า ถ้าไม่ถึง 150 อย่างน้อยก็ต้องให้ถึง 120 คิดง่ายๆ 120 คูณด้วย 70,000 หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องได้คะแนนทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งนี้ประมาณ 8.4 ล้านคะแนน

แต่บรรดานักวิเคราะห์การเมืองฟันธงตรงกันว่าประชาธิปัตย์อาจจะเป็นพรรค “ต่ำกว่าร้อย” ถึงเวลานี้ประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคต่ำกว่าร้อยหรือไม่ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับ “อภิสิทธิ์” แล้ว

แหล่งข่าวในพรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่าหากอภิสิทธิ์ เป็น “นิวอภิสิทธิ์” คือเป็นอภิสิทธิ์คนใหม่ที่มีนโยบายที่ฟันธงชัดเจน น่าจะเรียกคะแนนให้พรรคได้พอสมควร แต่ถ้ายังเป็นอภิสิทธิ์คนเดิม ก็คงลำบาก

“สมมุติถามว่าพรรคจะเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม หากตอบว่าต้องมีการศึกษาก่อน การขุดคลองคอคอดกระจะทำไหม ตอบว่าต้องถามประชาชน แบบนี้เรียกว่าไม่ฟันธง ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้ “อภิสิทธิ์” ปรับตัวเองใหม่ จนหลายครั้งทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคใหม่แต่ก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและที่สำคัญครั้งนี้เขาก็ยังได้มาเป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม

อนาคตประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง

สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีอำนาจต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งคนประชาธิปัตย์วาดฝันไว้ว่าหากพรรคได้ส.ส.เข้ามาใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยมากเท่าไหร่ก็หมายถึง โอกาสที่ “อภิสิทธิ์” จะเป็นนายกฯ อีกครั้ง

“เราต้องทำให้เราอยู่ในฐานะที่ถ้าไม่ไปร่วมกับใครแล้วเขาจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้” คนในประชาธิปัตย์บอก

สูตรอนาคตพรรคประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้งในมุมมองของคนพรรคประชาธิปัตย์ มีดังนี้
1.เป็นพรรคฝ่ายค้าน กรณีนี้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถมาเป็นอันดับสองได้ เรียกว่าแพ้เลือกตั้ง
2.ร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ คือได้มาเป็นอันดับสอง แต่ไม่มากพอที่จะต่อรองขอตำแหน่งนายกฯ ได้
3.ร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยคนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ ซึ่งคนประชาธิปัตย์มองว่าเป็นเงื่อนไขเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมกับเพื่อไทยได้

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์กันว่าอาจมีสูตรที่ 4 คือ ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่ "พรรคอื่น" เป็นนายกฯ" เช่น "อนุทิน ชาญวีรกุล" จากพรรคภูมิใจไทย

สุดท้ายอนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ “อภิสิทธิ์” จะเป็น “นิวอภิสิทธิ์” หรือจะเป็นแค่ “เหล้าเก่าในขวดเก่า” !!