ต่างชาติยื่นขอจดสิทธิบัตรพืชกัญชาในไทยแล้ว จี้ระงับ!

ต่างชาติยื่นขอจดสิทธิบัตรพืชกัญชาในไทยแล้ว จี้ระงับ!

จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระงับต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตรพืชกัญชา หวั่นไทยหมดสิทธิศึกษา-วิจัย ปลดล็อกกัญชาไร้ความหมาย ประโยชน์ไม่ตกที่คนไทย คกก.ปฏิรูปด้านสาธารณสุขหารือด่วน ขอพาณิชย์ชงใช้ม.44จัดการ หลังเรื่องเรื้อรังมานานไม่มีการขยับแก้ไข

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.61 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการพิจารณากัญชาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า เรื่องที่ต้องแจ้งต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน คือการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับเรื่องจากบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาขอยื่นจดสิทธิบัตรสารจากกัญชา ทั้งๆที่ทำไม่ได้ เพราะสารที่บริษัทต่างชาติมายื่นขอจดนั้น เป็นสารในธรรมชาติของกัญชา ตามกฎหมายสิทธิบัตรไม่ได้ให้จดสิทธิบัตร จะจดได้เมื่อเป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งถือว่าผิดพลาดมาก โดยกรมทรัพย์สินฯได้ดำเนินการตามขั้นตอนประกาศในเว็บไซต์เพื่อให้มีคนมาคัดค้านระยะเวลา 90 วัน ปรากฏว่าผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังเหลือขั้นตอนคัดค้านได้อี

"ที่กังวลหากบริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตรกัญชา สิ่งที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ทั้งการเดินหน้าปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้กัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้กับผู้ป่วย ทั้งการศึกษาวิจัย การเดินหน้าขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)ในการทสารสกัดน้ำมันกัญชา โรงงานกึ่งอุตสาหกรรม และการพัฒนาสายพันธุ์เหล่านี้จะยังทำได้อยู่หรือไม่ แบบนี้จะกระทบมาก เพราะเมื่อกฎหมายปลดล็อก ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ติดคำร้องยื่นสิทธิบัตรทันที แม้เขาจะยังไม่ได้เลขทะเบียนสิทธิบัตรก็ตาม แต่คำร้องนั้นประกาศโฆษณาไปแล้ว และไม่มีใครคัดค้าน เพราะไม่มีใครรู้เรื่อง แม้ตอนนี้จะมีการทักท้วงก็ไม่แก้ไขอีก แบบนี้ได้รับการคุ้มครองอัตโนมัติ ซึ่งหากกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ดำเนินการใดๆ จะยิ่งแย่ เพราะหากนับตั้งแต่กระบวนการผ่านมา 5 เดือนแล้วก็ไม่เห็นทำอะไร"ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 12 พ.ย. 2561 จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอเรื่องนี้เป็นวาระด่วน พิจารณาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งประเด็นนี้ได้ส่งเรื่องไปยังศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รับทราบแล้ว เพราะเรื่องนี้น่าจะต้องให้ระดับรัฐมนตรีฯหารือกันด้วย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ควรรับผิดชอบด้วยการยื่นถอดคำขอสิทธิบัตรพืชกัญชา หรืออาจอาศัยอำนาจหังหน้าคสช.ใช้มาตรา 44
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเองอยากย้ำ คือ คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2555 กำหนดให้มีการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนประกาศโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นคำขอผ่านระบบ PCT หรือระบบปกติ การตรวจสอบเบื้องต้นกำหนดให้ตรวจสอบ ม. 17 , ม. 9 ก่อน ซึ่งตามคู่มือหน้า 4 และ 263 ดังนั้น คำขอรับสิทธิบัตรที่ติด ม. 9 ต้องถูกตัดออก โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรายงานอธิบดีให้ดำเนินการยกคำขอ

จากข้อมูลสิทธิบัตรที่อภ.ตรวจสอบประกาศโฆษณาจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่ามีคำขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชา ซึ่งมีข้อถือสิทธิที่ขัดต่อ ม. 9 (1) เนื่องจากเป็นสารสกัดจากพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีการขอถือสิทธิรวมไปถึงการใช้บำบัดรักษาโรค ขัดต่อ ม. 9(4) ดังนั้น คำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้ต้องโดนยกคำขอโดยไม่มีการปล่อยหลุดมาจนถึงขั้นตอนการประกาศโฆษณา ถือเป็นการปฏิบัติงานที่เข้าข่ายบกพร่องหรือไม่

และจากการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้คำตอบว่ายังไม่มีการออกเลขสิทธิบัตรให้ แต่ในแง่ของกฏหมายนั้นคำขอนี้ได้รับการคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่นคำขอในราชอาณาจักรไทยแล้ว ตาม ม. 36 ทั้งหมดเป็นข้อกังวลของนักวิจัยไทยเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้อภ.ได้ตรวจสอบพบว่ามีบางคำขอยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการพิจารณาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่า คงต้องรอติดตามว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะออกมาชี้แจงและรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร รวมทั้งจะมีวิธีแก้ไขให้เหมาะสมอย่างไรในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งจริง ๆควรแก้ไขนานแล้ว ไม่ใช่ทิ้งไว้ จนล่วงเลยแบบนี้ ถามว่าถ้ากฎหมายออก แล้วงานวิจัยพัฒนา การผลิตสารสกัดกัญาทางการแพทย์จะทำอย่างไร เสียงบประมาณมากมาย ใครรับผิดชอบ ที่สำคัญต้องจับตาร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ฉบับที่กำลังจะปรับปรุง เป็นฉบับที่น่ากังวลว่าจะเอื้อต่อบริษัทข้ามชาติหรือไม่ เพราะตอนนี้ภาคประชาสังคมแทบไม่รู้เลยว่า ร่างกฎหมายฉบับบนี้ถึงตรงไหนแล้ว เตรียมเสนอครม.หรือยัง และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ อยากให้ทุกคนร่วมติดตามด้วย เพราะขนาดเรื่องกัญชา เป็นข่าวว่ารัฐจะเดินหน้าขนาดนี้ ยังกลับรับยื่นสิทธิบัตรได้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว