'กฤษฎา' สั่งดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม

'กฤษฎา' สั่งดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม

"กฤษฎา" สั่งด่วนการช่วยเกษตรกรน้ำท่วมชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.61 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ได้ส่งข้อความ ด่วนที่สุดทางไลน์ ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งหน.หน่วยราชการกระทรวงเกษตรในจังหวัดทุกจังหวัด ผู้รับทราบ ผู้ว่าฯและนายอำเภอทุกจังหวัด

ตามที่ได้เกิดพายุฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีนั้น ขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหัวหน่วยราชการ กษ.ทุกระดับได้กำชับให้ข้าราชการ กษ.ทุกสังกัดที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยให้มุ่งมั่น และตั้งใจลงไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมตามแนวทางดังนี้

1.ให้ กษ.จ.ในฐานะเลขานุการ อ.พ.ก.จังหวัดได้รวบรวมสถานการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วมในด้านต่างๆเพื่อรายงาน ผวจ.ทราบทุกระยะพร้อมทั้งเสนอให้ ผวจ.เรียกประชุม อ.พ.ก.จังหวัดเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีต่อเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

2.ขอให้ เกษตรจังหวัดได้ประสานกับ ชป.จ/พด./ปม./และปศ.รวมทั้งหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่เพื่อสนธิกำลังรวมกันเป็นทีมงานเดียวกัน (One team for all jobs) ลงไปสำรวจความเดือดร้อนของเกษตรกรด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามภารกิจของแต่ละกรมหรือแต่ละหน่วยด้วยโดยไม่ควรแยกหน่วยกันทำงานเพราะอาจจะทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรล่าช้า ซ้ำซ้อนและไม่มีเอกภาพในทางตรงข้ามการทำงานในรูปแบบทีมเดียวกันนั้นจะช่วยเเบ่งเบาภารกิจซึ่งกันและกันด้วย

3.เพื่อให้การแบ่งภารกิจ/งานตามข้อ 2 ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ จึงขอให้แบ่งพื้นที่แล้วกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจากแต่ละหน่วยเข้าไปรับผิดชอบแก้ไขปัญหาประจำพื้นที่นั้นๆ เช่น การระบายน้ำ/การสำรวจความเสียหายและการเยียวยาช่วยเหลือด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมงฯลฯ โดยให้ประสานงานการปฎิบัติกับนายอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆด้วย

4.ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ๆมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ/จัดจ้างวัสดุ คุรุภัณฑ์หรือการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตร/ชลประทานให้ถือปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบทางราชการที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามขั้นตอนโดยเคร่งครัดและให้คำนึงถึงประโยชน์ที่เกษตรกรและทางราชการจะได้รับด้วย และหากพบว่าข้าราชการหรือหน่วยงานในสังกัด กษ.คนใดหรือหน่วยใดได้ใช้ความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมอุกภัยครั้งนี้ไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแล้ว ให้ดำเนินการสอบสวนโดยเร็วและลงโทษทางวินัยโดยเฉียบขาดด้วย

5.ขอให้เตรียมการชดเชยช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เพื่อให้การช่วยเหลือมีความรวดเร็วสามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ที่ผลผลิตเสียหาย เช่น ทะเบียนเกษตรกร การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

6.ขอให้มอบหมาย ผต.กษ.และผต.กรมทุกกรมลงพื้นที่ ตรวจติดตาม บูรณาการทรัพยากรและการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ด้วย เพื่อสดับตรับฟังสภาพปัญหาการทำงาน รวมทั้งแนะนำการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

7.หากมีปัญหาอุปสรรค ที่เกินกำลังความสามารถของพื้นที่ ให้แจ้งขอรับการสนับสนุนมายังส่วนกลางโดยทันที ทั้งนี้ มอบหมายอธิบดีหรือผู้บริหารเทียบเท่ากรมทุกกรมให้เตรียมความพร้อมและจัดทำบัญชีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปกติและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อมีคำสั่งให้ไปช่วยราชการพื้นที่น้ำท่วมประสบอุทกภัยไว้ด้วยเพื่อให้พร้อมสนับสนุนการเผชิญเหตุได้ทันการณ์ เมื่อได้รับการร้องขอจากจังหวัดพื้นที่นำท่วมไว้ด้วย เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์การสูบน้ำ/ระบายน้ำ เจ้าหน้าที่นักวิชาการ สัตวแพทย์ เสบียงสัตว์ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เป็นต้น

8.ในส่วนของกระทรวง มอบหมาย รองปลัด กษ. เป็นประธานศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ โดยมีสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ เป็นฝ่ายเลขาฯ เพื่อติดตามสถานการณ์ประเมินความเสี่ยงจากปริมาณฝนและน้ำท่าที่จะเพิ่มขึ้น รวบรวมข้อมูลความเสียหาย และความต้องการช่วยเหลือ ประสานความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สทนช. และสรุปรายงานสถานการณ์ภาพรวมเป็นรายวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ.