สำรวจ'หุ้นไทย'ก่อนหมดปี 2ปัจจัยหนุนSETไปต่อ

สำรวจ'หุ้นไทย'ก่อนหมดปี 2ปัจจัยหนุนSETไปต่อ

'สภาธุรกิจตลาดทุนไทย' ส่งสัญญาณตลาดหุ้นไทยก่อนหมดปีนี้ มีโอกาส 'ฟื้นตัว' จากสองปัจจัยหนุนโดดเด่น 'กำไร บจ.โต & ลงทุนรัฐ' ด้าน 'ทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร' นายใหญ่ บล.ทิสโก้ มอง SET INDEX แตะ 1,750 จุด

ตลาดหุ้นไทยเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา 'แย่สุด' แล้ว 'ทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร' ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดบทสนทนาบนเวทีงานแถลงข่าว ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพ.ย. 2561 โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงถือเป็นเดือนแรกใน 'รอบห้าเดือน' บ่งชี้เห็นภาพจากดัชนี SET INDEX ร่วงหนักสุดลงมาแตะ 1,596 จุด เป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกัน ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในกรอบบริเวณ 1,640-1,660 จุดช่วงปลายเดือน !! 

ทว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยนั้น เป็นไปตามทิศทางปรับตัวลดลงของดัชนีดาวน์โจนส์ที่มีการปรับฐานลดลงประมาณ 10%  ขณะที่นักลงทุนกังวลผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และ Bond Yield 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 3% รวมถึงการติดตามท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐต่อนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ  

ปี 2561 ถือว่าเป็นปีที่แย่สำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนผ่าน 10 เดือนแรกของปีนี้ แทบจะไม่เห็นการปรับตัวขึ้นโดดเด่นของตลาดหุ้นทั่วโลก...!! 

ขณะที่ 'ตลาดหุ้นไทย' ถือว่าการปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ 'ดีสุด' เทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย เพราะว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 'แค่ 5%' เท่านั้น ขณะที่เทียบกับ 'ตลาดเกิดใหม่' (Emerging Markets) ปรับตัวลงมากกว่า 20% ดังนั้น การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยเป็นแค่การปรับฐาน ยังไม่ถึงขั้นตลาดเข้าสู่ภาวะหมี หรือ Bear Market 

'ตลาดหุ้นทั่วโลกหลายประเทศมีลักษณะตลาดกำลังเป็นหมีตัวเล็กๆ แต่ในตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายๆ ประเทศเป็นตลาดหมีตัวใหญ่ไปแล้ว เพราะว่าตลาดปรับตัวลงมากกว่า 20% แต่ตลาดหุ้นไทยเป็นแค่การปรับฐานเล็กน้อยเท่านั้น'

สำหรับทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นไทย 'ไพบูลย์' บอกต่อว่า มี 2 ปัจจัยหลัก ที่คาดว่าจะเป็นตัวผลักดันให้ดัชนี SET Index ฟื้นตัว นั่นคือ 1. 'ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย' (บจ.) ซึ่งปัจจุบันผลประกอบการ บจ. มีอัตราการเติบโตที่ดี 

และ 2. 'ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ' โดยความเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่า 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP' ยังคงอยู่ที่ระดับ 4.5% แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ที่ผ่านมา จะปรับตัวลดลง 5.2% เป็นเดือนแรกก็ตาม 

'อัตราเติบโตของ บจ. อยู่ในเกณฑ์ที่ดี จะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยไปต่อได้และมีความน่าสนใจ ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้นักลงทุนสถาบันและต่างชาติมองเห็นความโดดเด่นดังกล่าว'

นอกจากนี้ 'ปัจจัยนอกบ้าน' ที่ต้องพิจารณาคือ ภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ทยอยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดา การออกมาตรการกองทุนพยุงหุ้นของสมาคมหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของจีน 

รวมทั้ง ภาวะเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะกรณี คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศไม่เห็นชอบร่างงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี และราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลงแม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งจะจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเข้าสู่ตลาดน้ำมันดิบโลกก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจําเดือนพ.ย. 2561 ผลสํารวจโดยประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มกราคม 2562) ลดลงอยู่ในเกณฑ์ 'ทรงตัว' (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 120 - 160) โดยลดลง 7.23% อยู่ที่ระดับ 113.73  

โดยดัชนีกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงจากการสํารวจครั้งก่อน มาอยู่ที่ Zone ทรงตัว ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยยังคงอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) 

'ปัจจัยหนุน' ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากสุด ในส่วนของนักลงทุนรายบุคคล คือ เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากสุด รองลงมาคือการไหลเข้าและออกของเงินทุน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ มีมุมมองว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและการไหลเข้าและออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากสุด รองลงมาคือ สถานการณ์ทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ 

กลุ่มนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ เห็นว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เชื่อว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยว 

ขณะที่ 'ปัจจัยฉุด' ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากสุด ในส่วนของนักลงทุนรายบุคคล คือ มองว่าการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากสุดรองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากสุด รองลงมาคือนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ และการไหลเข้าออกของเงินทุน 

ด้านกลุ่มสถาบันภายในประเทศ เชื่อว่านโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากสุดรองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินลงทุน  และสุดท้ายกลุ่มต่างชาติ มองนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นมากที่สุด รองลงมาคือ เศรษฐกิจประเทศจีน และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ 

ท้ายสุด 'ไพบูลย์' ทิ้งท้ายไว้ว่า ตอนนี้นักลงทุนกังวลผลกระทบนโยบายทางการค้าและนโยบายทางการเงินของสหรัฐ ขณะที่มองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนในอนาคต !! 

'บล.ทิสโก้' มองหุ้นไทย 1,750 จุด 

'ทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ บอกว่า มีมุมมองต่อดัชนี SET Index ปลายปี 2561 จะสามารถกลับไปอยู่ที่ระดับ 1,750 จุดได้ เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศที่เป็นตัวกดดันตลาดเริ่มมีแนวโน้มที่คลี่คลาย อาทิ ประเด็นสงครามทางการค้าสหรัฐ-จีน ที่มีแนวโน้มจะเจรจากันได้, สหรัฐฯ เริ่มยินยอมให้ประเทศอื่นซื้อน้ำมันจากอิหร่าน หลังจากที่ช่วงที่ผ่านมาได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ขณะที่ ปัจจัยภายในเทศยังค่อนข้างแข็งแกร่ง จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นที่น่าสนในหลังจากปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง รวมั้งมีปัจจัยสนับสนุนจากเม็ดเงินในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะไหลเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง การเร่งรัดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนไทยทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงมากจึงประเมินว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะเป็นจังหวะของการรีบาวด์ ดังนั้น จึงเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าช้อนซื้อหุ้นไทยที่มีพื้นฐานดี ราคาถูก รวมถึงเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐบาล

สอดคล้องกับ 'ดร.สมประวิณ มันประเสิรฐ' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า เศรษฐกิจในประเทศไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง และเติบโตได้ต่อเนื่องไปยังปี 2562 โดยคาดว่า GDP เมืองไทยจะเติบโตระดับ 4.2% เนื่องจากยังคงได้รับการผลักดันของกลุ่มส่งออกที่คาดว่าจะโตได้ระดับ 5% ภาคการท่องเที่ยวโตระดับ 9% 

แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีแรงกดดันจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่คาดว่าจะกระทบแค่ในระยะสั้น ซึ่งในปีหน้า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะสูงกว่า 40 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนประเมินว่าจะเติบโตได้ 4.8% แม้ว่าจะในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่โครงการการลงทุนของภาครัฐส่วนใหญ่ ได้รับการอนุญาตการก่อสร้างแล้ว จึงทำให้ภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนที่ต่อเนื่อง