อีสานรุ่นใหม่ เลือกส.ส.เน้นนโยบาย-ประวัติ อยากให้แก้ศก.-รายได้น้อย

อีสานรุ่นใหม่ เลือกส.ส.เน้นนโยบาย-ประวัติ อยากให้แก้ศก.-รายได้น้อย

อีสานโพล มข. ชี้ "คนอีสานรุ่นใหม่" เลือกส.ส.เน้นนโยบายพรรค ประวัติผลงาน อยากให้แก้เศรษฐกิจ-รายได้น้อย เผยส่วนใหญ่สนใจข่าวการเมืองน้อย

วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2561) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง“คนอีสานรุ่นใหม่กับการเมือง”พบคนอีสานรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ใช้ Facebook และYoutubeบ่อยมาก โดยมีความสนใจข่าวการเมืองเล็กน้อย ทั้งนี้เห็นว่าเพลงประเทศกูมีสะท้อนความจริงสังคมเป็นหลักเกินครึ่งเห็นว่าในหมู่นักการเมืองเป็นผู้ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเมืองและผู้ที่มาหาผลประโยชน์ในจำนวนพอๆกัน นอกจากนี้ยังพบว่า นโยบายพรรคประวัติและผลงานผู้สมัคร และภาพลักษณ์พรรคการเมือง เป็นปัจจัยหลักในการเลือก สส. สุดท้ายพบว่าคนรุ่นใหม่อีสานต้องการให้พรรคการเมืองเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาพใหญ่ เศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย การศึกษา และอาชญากรรมและยาเสพติด


ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ความคิดเห็นคนอีสานรุ่นใหม่ต่อการเมืองไทย ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5พฤศจิกายน 2561 จากกลุ่มตัวอย่างคนอีสานช่วงอายุ 18 -29 ปี จำนวน 1,120รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด จากการสำรวจความคิดเห็นในการใช้โซเชียลมีเดียพบว่าโซเชียลมีเดียประเภท Facebook Youtube และ Line ถูกใช้บ่อยมากเป็น 3 ลำดับแรกคิดเป็นร้อยละ 79.1 ร้อยละ 70.5 และร้อยละ 60.4 ตามลำดับ ตามมาด้วยร้อยละ 44.6ใช้ Instagram บ่อยมาก และร้อยละ 21.0ใช้ Twitter บ่อยมากขณะที่การใช้ Pantip WhatsApp SanpChat และ LinkedIn ไม่เป็นที่นิยมของคนอีสานรุ่นใหม่


เมื่อสำรวจความคิดเห็นด้านความสนใจข่าวการเมืองว่ามีมากน้อยเพียงใด พบว่าส่วนใหญ่คนอีสานรุ่นใหม่สนใจข่าวการเมืองเล็กน้อย ร้อยละ69.7 รองลงมาให้ความสนใจมากร้อยละ19.6 และไม่สนใจเลย ร้อยละ 10.7 ตามลำดับ
พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.4 ให้ความเห็นว่าเป็นที่สะท้อนความจริงสังคมเป็นหลัก รองลงมา ร้อยละ 19.1ให้ความเห็นว่าเป็นเพลงที่มีทั้งความจริงและข้อมูลที่บิดเบือนร้อยละ 15.6บอกว่ายังไม่ได้ฟังเพลงนี้ และมีเพียงร้อยละ 2.0ให้ความเห็นว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นหลัก


จากนั้นสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อนักการเมืองไทยพบว่าเกินครึ่ง หรือ ร้อยละ 55.0เห็นว่ามีผู้ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเมืองและผู้ที่มาหาผลประโยชน์มีจำนวนพอๆกัน รองลงมาร้อยละ 35.7มีความเห็นว่าส่วนใหญ่ตั้งใจมาหาผลประโยชน์และร้อยละ 9.3 เห็นว่าส่วนใหญ่ตั้งใจมาพัฒนาบ้านเมือง


เมื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุผลหลักที่ใช้ในการพิจารณาเลือก ส.ส. พบว่าพิจารณานโยบายพรรคเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นร้อยละ29.6 รองลงมาพิจารณาจากประวัติและผลงานผู้สมัคร ร้อยละ 26.7 ภาพลักษณ์พรรคการเมืองคิดเป็นร้อยละ 21.6 รองลงมาดูหัวหน้าพรรคและคีย์แมนพรรคร้อยละ 10.8 ดูจากกระแสสังคม ร้อยละ 6.4ผู้ปกครองแนะนำ ร้อยละ 3.8ผู้นำชุมชนแนะนำ ร้อยละ 0.8 และพิจารณาจากการแนะนำของไอดอลที่ชื่นชอบ ร้อยละ 0.2ตามลำดับ 


เมื่อสำรวจถึงความต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆเน้นแก้ปัญหาอะไรมากที่สุดพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.6ต้องการให้เน้นแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจภาพใหญ่ รองลงมาร้อยละ 20.0ด้านเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย ตามมาด้วยร้อยละ 16.6ด้านการศึกษา ร้อยละ 13.2 ด้านปัญหาอาชญากรรม/ยาเสพติด ร้อยละ 8.1 ตำรวจ/ผู้ใช้กฎหมายร้อยละ7.4ระบบราชการร้อยละ5.0 สาธารณสุขร้อยละ3.2ความปรองดองและอื่นๆร้อยละ0.9 


ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์  99%  และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วยเพศหญิงร้อยละ 53.6 เพศชายร้อยละ 47.4อายุระหว่าง 18-20ปีร้อยละ 23.8 อายุระหว่าง 21-25ปีร้อยละ 42.9และอายุระหว่าง 26-29ปีร้อยละ33.3โดยมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลร้อยละ 55.0 และอยู่ในเขต อบต. ร้อยละ 45.0ทั้งนี้เป็นผู้กำลังทำงานหรือหางาน ร้อยละ 56.5รองลงมากำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 31.1กำลังเรียนระดับอาชีวะ/เทคนิค ร้อยละ 6.4 กำลังเรียนระดับมัธยมปลาย ร้อยละ 4.2 และกำลังเรียนหลักสูตรอื่นๆร้อยละ 1.6