แฉบิ๊กมหา'ลัยบางคนรวยกว่านายกฯ ภตช.หนุนคงประกาศป.ป.ช.

แฉบิ๊กมหา'ลัยบางคนรวยกว่านายกฯ ภตช.หนุนคงประกาศป.ป.ช.

เครือข่ายต่อต้านการทุจริต "ภตช." หนุนคง "ประกาศป.ป.ช." ให้ "นายก-กรรมการสภามหา'ลัย" ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชี้เป็นตำแหน่งเสี่ยงทุจริต ใช้มหาฯลัยซ่องซุมกำลัง หาประโยชน์ แฉบางคนร่ำรวยมากกว่า "นายกฯ" เสียอีก

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 61 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) น.ส.ภคอร จันทรคณา รองเลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อให้กำลังใจและขอให้คงประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งจะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. เนื่องจาก ภตช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการมหาวิทยาลัย อดีตกรรมการ สภามหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของอธิการบดี รองอธิการบดี นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นงบประมาณแผ่นดิน มีฐานะร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่สามารถหาประโยชน์ได้ สามารถให้คุณให้โทษได้ แต่เมื่อมีประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าว ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในข่ายต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่างลาออกจะยื่นหนังสือลาออก เพราะไม่อยากแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเอง แม้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะเห็นด้วยกับประกาศดังกล่าวก็ตาม

"นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ สามารถให้คุณให้โทษแก่อธิการบดีและฝ่ายบริหารได้ ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกัน และปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังทางวิชาการ ผลประโยชน์ในหมู่ผู้บริหาร และมหาวิทยาลัยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐตั้งแต่ 1.5 หมื่นล้านบาท ลดหลั่นกันไปตามขนาด ผู้บริหารแต่ละคนเงินเดือน 3-7 แสนบาทต่อเดือน ไม่รวมค่ากรรมการหลักสูตร ไม่นับเงินที่ไปทุจริต และมีข้อสังเกตว่านายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงอธิการบดีและรองอธิการบดีในมหาวิทยาลัยดังๆ บางแห่งมีฐานะร่ำรวยมากกว่านายกรัฐมนตรี ถือว่าแต่ละตำแหน่งมีจุดเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชั่น ภตช.ขอให้คงประกาศดังกล่าวโดยไม่ต้องแก้ไขเพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานของการเข้ามามีอำนาจ" รองเลขาฯ ภตช. กล่าว