ปฐมา จันทรักษ์ นำ ‘ไอบีเอ็ม’ ผงาดอินโดจีน

ปฐมา จันทรักษ์  นำ ‘ไอบีเอ็ม’ ผงาดอินโดจีน

ในโลกเทคโนโลยีที่หมุนเร็ว ผู้ที่จะอยู่รอด สามารถเติบโตได้อย่างแข่งแกร่ง นอกจากต้องมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีแล้ว ผู้บริหารซึ่งรับหน้าที่กุมบังเหียนองค์กรเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่มีความสำคัญ

“ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ทิศทางธุรกิจปี 2562 ของไอบีเอ็มมุ่งเป็นพันธมิตรที่จะช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ภายใต้ 3 พันธกิจหลักคือ 1.ช่วยให้ธุรกิจก้าวนำด้วย “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” 2.ถ่ายทอดองค์กรความรู้และจับมือกับพันธมิตร พร้อมๆ ไปกับสร้างอีโคซิสเต็มส์รองรับเพื่อช่วยองค์กรไทยนำเทคโนโลยีมาต่อยอดธุรกิจ 3.ขยายตลาดสู่ประเทศอินโดจีน ประเทศลาว กัมพูชา และเมียนมา

“เราวางประเทศไทยเป็นฮับในการทำตลาดภูมิภาคอินโดจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม พูดคุยกับพันธมิตร อบรมบุคลากร และนำเสนอแผนงานเพื่อของบประมาณการลงทุน คาดว่าจะเริ่มต้นได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในต้นปี 2562”

ไอบีเอ็มมีมุมมองว่า ตลาดประเทศไทยและอินโดจีนมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปีจากนี้รายได้ที่มาจากอินโดจีนจะมีสัดส่วน 5-10%

ปักธง ‘เอไอ-บล็อกเชน’

เอ็มดีไอบีเอ็มเผยว่า เทคโนโลยีที่โฟกัสอย่างมากคือ ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) และบล็อกเชน ในแผนเตรียมเปิดตัวเครื่องมือด้านเอไอที่สามารถตอบโจทย์ได้ 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ การเกษตร การบริการลูกค้า งานทรัพยากรบุคคล การตลาด โฆษณา เครื่องมือทางอุตสาหกรรม อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก ยานยนต์ และซัพพลายเชน

นอกจากนี้ จะนำแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่ร่วมทำงานกับองค์กรระดับโลกมาช่วยต่อยอดธุรกิจในประเทศไทย เน้นทำตลาดมัลติคลาวดด์ รวมถึงนำเอไอมาช่วยเพิ่มศักยภาพงานไซเบอร์ซิเคียวริตี้

พร้อมกันนี้ ที่ให้ความสำคัญควบคู่กันไปคือ พัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับธุรกิจและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนไป รองรับการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ

สำหรับความท้าทาย ประเด็นหลักๆ คือ ทุกวันนี้ลูกค้ามีทางเลือกจำนวนมาก ดังนั้นโจทย์คือทำอย่างไรจะทำให้ไอบีเอ็มเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่องค์กรขนาดใหญ่ แต่รวมถึงองค์กรขนาดเล็ก เนื่องจากโซลูชั่นของบริษัททุกวันนี้สามารถลงไปเล่นได้ทุกตลาด และไอบีเอ็มพร้อมที่จะไปทุกตลาดเช่นกัน

ด้านจุดแข็งที่แตกต่างจากผู้เล่นอื่นๆ อย่างชัดเจนประกอบด้วย ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีทั้งเอไอ คลาวด์ และควอนตัมคอมพิวติ้ง ขณะเดียวกันมีบุคลากรที่เชี่ยวราญรายอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีผู้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนกว่า 1.5 หมื่นคน ไซเบอร์ซิเคียวริตี้กว่า 8 พันคน ด้านกรอบการปฏิบัติตามกฏระเบียบ และข้อบังคับ 1 พันคน ดีไซเนอร์ 1.5 หมื่นคน เฮลธ์แคร์ 7 พันคน

ที่ผ่านมาทำงานพัฒนาเทคโนโลยีเอไอมามากกว่า 60 ปี จนวันนี้กล่าวได้ว่ามีความพร้อมเต็มที่สำหรับใช้งาน สามารถนำมาปรับใช้กับความต้องการขององค์กรได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยเอไอสำหรับธุรกิจภายใต้ชื่อ “ไอบีเอ็ม วัตสัน” สามารถเข้าไปตอบโจทย์ได้ครอบคลุมองค์กรภาครัฐ วิทยาศาสตร์ การศึกษา การเงินการธนาคาร เฮลธ์แคร์ โซลูชั่นสำหรับธุรกิจ และพลังงาน ฯลฯ ปัจจุบันมีลูกค้า 1.6 หมื่นรายทั่วโลก ใน 20 อุตสาหกรรม 80 ประเทศ

“การทำธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว หากไม่ปรับตัวก็ไม่อาจอยู่รอดได้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันการเติบโตและการทรานส์ฟอร์มประเทศไทย”

10เทรนด์เทคโนเปลี่ยนโลก

ผู้บริหารไอบีเอ็มประเมินว่า 10 เทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิบัติอุตสาหกรรมและส่งผลกระทบไปในวงกว้างประกอบด้วย อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที), บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์, คลาวด์, เอไอ , บล็อกเชน, ค็อกนิทิฟซิเคียวริตี้, ฟินเทค, ควอนตัมคอมพิวติ้ง, ระบบอัตโนมัติ, และโรโบติกส์ 

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ด้วยว่าภายใน 5 ปีจากนี้ข้อมูลที่เป็นอันสตรักเจอร์ดาต้าจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล หรือเติบโตประมาณ 800% ข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปริมาณมหาศาลเหล่านี้ได้กลายเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของโลก แต่กว่า 80% ยังคงเป็นข้อมูลแบบไร้โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากภาพ เสียง เซ็นเซอร์ วีดิโอ ฯลฯ ซึ่งคอมพิิวเตอร์ปัจจุบันไม่มีความสามารถในการเข้าใจและนำมาใช้ จำเป็นต้องมีเอไอหรือค็อกนิทิฟในการถอดรหัส

“เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนกำลังสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและธุรกิจ ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องหันมาปรับตัว ปรับวิธีคิด แนวทางการทำงาน รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเป็นเครื่องมือเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”