สวนนอกกรอบลุงรีย์

สวนนอกกรอบลุงรีย์

ฟาร์มลุงรีย์ (Uncleree farm) จะเรียกว่าฟาร์มอินดี้ก็คงไม่ผิด เพราะคิดต่างจากคนทำการเกษตรทั่วไป

ถ้าพูดถึงฟาร์มลุงรีย์ (Uncleree farm) ถ.เพชรเกษม 46 หลายคนรู้สึกเป็นอย่างดี  ชารีย์ บุญญวินิจ เจ้าของฟาร์มเล็กๆ แห่งนี้ทำการเกษตรด้วยความสนุกสนานและมีความสุข เขามีวิธีเพาะเห็ด เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงไส้เดือน ปลูกผัก ฯลฯ ที่ไม่เหมือนใคร

ในงาน TEDxSilpakornU #OutsidetheFrame ชารีย์ ศิษย์เก่า คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาเล่าประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ตัวเองรัก

เขาเริ่มเล่าเรื่องสบายๆ ว่า ตอนเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ เคยถามอาจารย์ว่า จะต้องเรียนอะไรถึงจะได้ลงมือทำมากที่สุด จนได้คำตอบว่า ต้องเรียนสาขาเกี่ยวกับการปั้น

เมื่อเรียนจบ ชารีย์ ทำงานศิลปะหลากหลาย เริ่มจากเป็นครูสอนศิลปะ จากนั้นเปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับเขา จนไปทำงานในห้องครัวที่ต่างประเทศ

“เจอขยะเศษอาหารจำนวนหนึ่ง กลับมาเมืองไทยก็เจอแบบนี้อีก ผมก็เลยคิดว่าจะมีวิธีการจัดการขยะเศษอาหารเหล่านี้ไหม ตอนนั้นก็คิดไม่ออก เพราะขยะเศษอาหาร กลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน จึงอยากช่วยแก้ปัญหานี้"

แม้จะผันมาทำงานในห้องครัว ก็ยังไม่เจออาชีพที่ใช่และชอบสำหรับเขา ชารีย์ก็เลยไปบวช

“เป็นพระอยู่พรรษาหนึ่ง ก็ค้นพบว่า ชีวิตคนเราไม่ต้องทำอะไรเยอะแยะขนาดนั้นก็ได้ แต่เราเป็นนักออกแบบ และมีความไฮเปอร์ เมื่ออยู่วัดจนไม่กลัวผีแล้ว ก็ติดตามหลวงพ่อออกไปพัฒนาชุมชน ท่านก็บอกว่า พวกขยะผักผลไม้เหล่านี้มีวิธีการกำจัดอยู่ ให้เอาไส้เดือนมาเลี้ยงทำปุ๋ยสิ

ผมก็ถามว่าให้มันกินแล้วได้อะไร เมื่อรู้ว่า ทำแบบนั้นจะได้ปุ๋ย จึงคิดคำนวณว่า สามารถเอามาปลูกผักได้เลย ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าวิธีการปลูกพืชผัก ดินต้องมีแร่ธาตุ สารอาหารอื่นๆ อีกเยอะ ผมคิดแค่ว่า ถ้ามีดินดีจากขยะอาหาร ก็มีชัยกว่าครึ่ง

หลังจากนั้นจึงหันทำธุรกิจด้านการเกษตร ปีกว่าๆ เลี้ยงไส้เดือน ทำแปลงเศษผักผลไม้ให้ไส้เดือนกิน ทำปุ๋ยส่งให้คนในเมืองใช้

"แรกๆ ผมก็ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร แต่มองเห็นคุณประโยชน์ และผมคิดว่าทุกคนคงมีปัญหาเดียวกัน คือ ไม่มีที่ดิน อยู่คอนโด แล้วจะทำยังไง ขยะที่เกิดจากเศษอาหารในครัว ผมเอามาทำปุ๋ย จนกลายเป็นเทรนด์ เลี้ยงไส้เดือนกันทั่วประเทศ ”

ชารีย์ เล่าต่อว่า ไม่มีที่ดินไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถเลี้ยงไส้เดือนเป็นแนวตั้งติดกับกำแพงได้

“ผมมีกำแพงบ้าน พื้นที่ไม่ได้ใหญ่โต เลี้ยงไส้เดือนผลิตปุ๋ยได้ 800 กิโลกรัมต่อเดือน กำจัดขยะผักผลไม้เดือนละหนึ่งตัน ตอนนั้นมีความสุขมาก คิดว่าสำเร็จละได้กำจัดขยะเศษอาหาร ก็เลยหมกมุ่นอยู่กับไส้เดือน”

เสมือนว่าไส้เดือนเป็นเพื่อนของเขา เขาบอกว่า เวลาพวกมันตาย ก็แค่เหม็นนิดๆ หน่อยๆ ไม่เหมือนวัวหรือสุนัข เลี้ยงแล้วต้องเอาใจไปผูกกับมัน แต่ไส้เดือนลืมรดน้ำสัก 7 วัน อย่างมากก็แค่ผอมนิดหน่อย

“ผมทำจนรู้จักสายพันธุ์ไส้เดือน สายพันธุ์ลายเสือจะมีสภาพทนหนาวได้ดี สายพันธุ์อาฟริกันทนร้อน จนเริ่มรู้ว่าสามารถใช้ไส้เดือนเป็นโปรตีนเลี้ยงแม่พันธุ์กุ้งได้อีก และยังใช้ไส้เดือนเป็นตัวมาตรฐานวัดสภาพดิน ตรงไหนดินดี ตรงนั้นมีไส้เดือน นอกจากนี้ผมใช้การเลี้ยงกุ้งเป็นตัววัดมาตรฐานน้ำ เพราะผมไม่ได้มีเงินมากมายในการตรวจวัดมาตรฐานทุกอย่างทางการเกษตร”

ตามประสาคนช่างคิด ชารีย์ทำให้ฟาร์มลุงรีย์มีชีวิตชีวา เป็นที่สนใจของคนเมือง โดยเขาเอาความรู้ด้านการเกษตรและงานศิลปะมาประยุกต์รวมกัน

“ตอนนั้นผมเป็นบ้าอยู่คนเดียว เห็นแดดก็เสียดาย เห็นขยะก็เสียดาย ทำมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอยากบอกเรื่องนี้ให้คนอื่นรู้บ้าง ผมประดิษฐ์สิ่งของหลายอย่าง รองเท้าแตะใครลืมไว้ ผมก็เอามาประดิษฐ์สิ่งที่ใช้ได้ทางการเกษตร บางทีก็ทำเมล็ดดินเผา ทำไปทำมาเปิดอบรมไปกว่า 70 รุ่น”

ทำการเกษตรด้วยความสนุกและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ จนวันหนึ่งเขาตั้งคำถามว่า สิ่งที่เสียไปมากมายคือ เวลา

“ผมก็ถามตัวเองว่า ผมให้เวลามากพอสำหรับคนที่ผมรักหรือสัตว์เลี้ยงที่ผมรักหรือยัง ผมทำทุกอย่างจนในบ้านมีหมู เห็ด เป็ด ไก่ กุ้ง หอย ปู และปลา นี่คือพื้นที่หนึ่งงาน ซึ่งผมใส่ทุกอย่าง แต่วันหนึ่งผมรู้สึกว่า ผมคุยกับแฟนและหมาที่บ้านน้อยลง เพราะต้องออกจากบ้านไปหาความรู้และกลับมานั่งทำ”

และเมื่อถึงจุดหนึ่งชารีย์ก็คิดว่าต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คิดว่า ทำเกษตรเล็กๆ แบบนี้ไม่เห็นจำเป็น

“สภาพแดดร่ำไร หรือร้อนชื้นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มีปัญหา ภูมิปัญญาไม่ส่งต่อถึงกัน ผมแก้ไขโดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ ใช้เซ็นเซอร์วัดความร้อน ความชื้น แต่เดิมผมปฎิเสธเทคโนโลยี แต่เราไม่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดให้กลับ เรามีบ้านเล็กๆ เราก็ต้องใช้ภูมิปัญญา”

หลังจากทำการเกษตรคนเดียวมานานพอควร ชารีย์เริ่มหาคนที่มีความชอบเหมือนกัน แต่คิดต่างมาช่วยให้ความคิดเกิดความสมดุล อาศัยว่ารอบๆ บ้านมีบรรดาลุงๆ อาศัยอยู่เยอะ และมีลุงคนหนึ่งมีความคิดแบบวิศวะ คือ ใช้เหตุผลมาช่วยเติมในสิ่งที่เขาขาด เพราะเรื่่อง อารมณ์ความรู้สึกแบบศิลปินเขามีอยู่เต็มเปี่ยม

“ผมเริ่มเพาะเห็ดจากวุ้นไส้เดือนที่ใช้คั้นน้ำหมัก แล้วเหลือกาก ปกติกระบวนการเพาะเห็ดต้องมีเครื่องนึ่งก้อนเห็ด อัดก้อน ใช้เงินเยอะ แต่เราใช้มือทำอย่างเดียว จึงอยากส่งต่อความรู้ให้เด็กๆ ในโรงเรียน และคนที่สนใจ มีพื้นที่เล็กๆ ไม่มีความรู้ก็ทำได้ 

อย่างเห็ดหอมนมสด มูลค่ากิโลกรัมละพันบาท เราใช้ห้องเล็กๆ แค่สามคูณสามเมตรเพาะเลี้ยง แต่ปัญหาคือ ทำกินเองก็เรื่องหนึ่ง ถ้าทำขายก็อีกเรื่อง เราต้องควบคุมบางอย่าง เราใช้หลอดไฟให้แสงเห็ด เพื่อให้ได้ทั้งเห็ดก้านอ้วน ก้านใหญ่ ทำเมนูที่เหมาะได้เลย”

เขาสรุปสิ่งที่ทำง่ายๆ ว่า แรกๆ คิดแค่เรื่องขยะ แต่ตอนนี้คิดว่า อาหารที่เราผลิต อย่างเห็ดเอาไปปรุงอาหาร ก็อยากให้ตัดแต่งน้อยที่สุด จะได้ส่งต่อไปร้านอาหารแล้วใช้ให้คุ้มค่าที่สุดและเกิดขยะน้อยที่สุด

"กุ้งที่เราเลี้ยง อาหารนำมาจากของเสียจากไส้เดือนที่ใช้ทำน้ำหมักบำบัดน้ำเสีย กลายเป็นวัฎจักรหมุนเวียน ทำทุกอย่างที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด เอาของที่ไม่จำเป็นของคนอื่นมาเป็นต้นทุนของเรา “ ชารีย์ เล่าถึงปรัชญาการทำเกษตรของเขา

นอกจากนี้ยังย้ำว่า ทำแบบนี้ทำให้เข้าใจคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่ปลูกกระเพราสามต้น หรือมีชีวิตที่ยากไร้ แต่เป็นการรู้จักตัวเอง ภายใต้เหตุผลและอุดมการณ์ที่ดี

“ทุกวันเรายืนอยู่บนดิน และดินก็เป็นจุดยืนของเรา วิธีที่ผมทำงานก็คือ วิธีที่เราจะทำในสิบปีข้างหน้าในวันที่เราไม่มีแรง ใครที่เห็นด้วยกับความคิดผม ผมจะเรียกคุณว่า ลุง หรือป้า เพราะผมคือ ลุงรีย์ครับ ”

ปกติฟาร์มลุงรีย์จะเปิดให้ชมไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.00-12.00 น.