กรมชลฯ สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่

กรมชลฯ สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่

"เกษตรฯ"รุกแผนปฏิรูป กรมชลประทานขานสานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่ รวบทุกเครือขับเคลื่อนขยายผลเสริมสร้างเครือข่าย ให้เข้มแข็ง ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ในการจัดงาน"โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการขยายผลโครงการเกษตรทฤษฏีใหม่" ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนมากประสบผลสำเร็จจากการใช้แนวความคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ สามารถปลดหนี้สิน ครอบครัวมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง กระทรวงเกษตรฯ จึงมีเป้าหมายในการขยายผลทฤษฎีใหม่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศปีละ 70,000 ราย ใน 882 อำเภอ เฉลี่ยเกษตรกรอำเภอละ 80 ราย เพื่อเป็นต้นแบบของการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยให้หน่วยงานราชการ ทุกหน่วยงานมาร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการสำคัญในแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย

“กรมชลประทานเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการขยายผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลความรู้เรื่องน้ำที่ปัจจัยสำคัญหลักในการทำการเกษตร ครั้งนี้จึงได้จัดงานเสวนา “สู่ฝันของพ่อ...สานต่อทฤษฎีใหม่” เพื่อเปิดพื้นที่ตลาดนัดความรู้ให้คนทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เครือข่ายต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานมาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันวางแผนขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ในระดับลุ่มน้ำ เพื่อจะออกแบบต้นแบบที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงต่อไป” รัฐมนตรีช่วยว่าการก.เกษตร ฯ กล่าว

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นอกจากรวบรวมเครือข่ายผู้มีประสบการณ์จริงในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาไว้ด้วยกันแล้ว ภายในงานยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ เช่น ความเป็นมา กลับสู่รากเหง้าเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก Tentative Formula สู่โคก หนอง นา โมเดล , เส้นทางคนรุ่นใหม่ Start Up เกษตรทฤษฎีใหม่ , การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาของลุ่มน้ำปราจีน (ลุ่มน้ำย่อยห้วยโสมง) และลุ่มน้ำป่าสัก เป็นต้น

รวมไปถึงการจัดนิทรรศการที่แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เรื่องราวของรากเหง้าเกษตรทฤษฎีใหม่ โซนที่ 2 ตามรอยเท้าพ่อ..สู่ฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก โซนที่ 3 สานฝันของพ่อ..พัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตามแนวพระราชดำริ โซนที่ 4 แปลงตัวอย่างเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ (โคก หนอง นา โมเดล) และสุดท้ายตลาดนัดเกษตรทฤษฎีใหม่และเครือข่าย

“กรมชลประทานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเกษตรทฤษฎีใหม่จะขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งในการพูดคุยเสวนาครั้งนี้จะใช้กลไกหลัก 3 อย่าง คือ S-Support (หนุน/ปลดล็อค) D-Driver (คน/พื้นที่) และ F-Function (กลไกราชการ) เพื่อให้ได้ตัวชี้วัด กลไกการขับเคลื่อนระยะยาว รวมถึงข้อสรุปที่จะสนับสนุนการทำงานให้สำเร็จเป็นไปตามแผนขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยได้จริงต่อไป” ดร.ทองเปลวฯ กล่าว

นายบุญลือ เต้าแก้ว เกษตรทฤษฏ๊ใหม่ บ้านหนองโน อ.เมือง จังหวัดสระบุร กล่าวว่า ก่อนทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ทำนาข้าวพียงอย่างเดียวและมีปัญหาหนี้สิน จนกระทั่งไปเรียนรู้การทำทฤษฏีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จว.สระบุรี และได้นำแบบอย่างมาปรับเข้ากับพื้นที่ฃองตนที่มีอยู่ 20 ไร่ แบ่งพื้นที่ทำการเกษตร 12 ไร่ นา 4 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่

โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 ยึดหลัก มุ่งมั่น ขยัน อดทน แต่ในช่วงแรก ๆ เพื่อนบ้านไม่เห็นด้วยแต่ตนก็ตั้งใจจนกระทั่งได้ผลและเป็นที่ยอมรับเมื่อปี 2539 - 2540 และแจกจ่ายผลผลิตให้กับเพื่อนบ้านจนกระทั่งมีการวางจำหน่าย และมีหลายหน่วยงานเข้ามาเรียนรู้เกษตรทฤษฏีใหม่ในพื้นที่ของตนเอง

"หนี้ที่เป็นอยู่ 5 แสน เริ่มใช้หมดไป จนกระทั่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะมีรายได้ทุกวันจากการทำการเกษตร เช่นเพาะเห็ดนางฟ้าและที่มีคนมารับซื้อถึงที่"