‘แอมเนสตี้’ ยินดีไทยปล่อยเด็กผู้ลี้ภัยกว่า 100 คน

‘แอมเนสตี้’ ยินดีไทยปล่อยเด็กผู้ลี้ภัยกว่า 100 คน

“แอมเนสตี้” ยินดีไทยปล่อยตัวเด็กผู้ขอลี้ภัยกว่า 100 คนจาก ตม. สวนพลู แต่ยังกังวลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเข้าเมือง

องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยยินดีที่ปล่อยตัวเด็กผู้ขอลี้ภัยประมาณ 100 คนจากสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังคงเน้นย้ำให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่ประเทศไทยปล่อยตัวเด็กผู้ลี้ภัยที่ถูกขังอยู่ใน สถานกักตัวคนต่างด้าวกว่า 100 คน พร้อมย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองตาม “ปฏิบัติการX-Ray Outlaw Foreigner” ควรเป็นไปในลักษณะที่เคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และบุคคลผู้แสวงหาความคุ้มครองระหว่างประเทศจากการประหัตประหาร และควรสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

นายนิโคลัส เบเคลัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกเผยว่า นับตั้งแต่ทางการไทยเริ่ม “ปฏิบัติการX-Ray” เมื่อเดือนก.ค. 2560 มีรายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมทั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้จับกุมคนต่างชาติและบุคคลผู้ไร้รัฐอย่างน้อย 2,000 คน ซึ่งมาจากประเทศต่าง ๆ ทั้งอิรัก ซีเรีย ไนจีเรีย ยูกันดา โซมาเลีย อัฟกานิสถาน กัมพูชา อินเดีย เมียนมา ปากีสถาน ลาว และเวียดนาม เนื่องจากอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้เข้าเมืองในประเทศไทย เนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐบาลตาม ปฏิบัติการ X-Ray รวมทั้งปฏิบัติการ 1 เดือนที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนต.ค. 2561 โดยในขั้นตอนล่าสุดของปฏิบัติการ X-Ray เจ้าหน้าที่ความมั่นคงและตำรวจจะทำการค้นหาและส่งกลับพลเมืองต่างชาติกรณีที่พบว่าอยู่เกินวีซ่าหรือไม่มีเอกสารถูกต้อง

“แอมเนสตี้ขอให้บุคคลที่ถูกลงโทษระหว่างการจับกุมสามารถเข้าถึงกระบวนการที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ในกรณีต้องส่งตัวบุคคลเหล่านั้นกลับไปยังประเทศต้นทาง ต้องมีการประเมินเป็นรายกรณี เพื่อประกันว่าจะไม่ได้รับอันตรายหากถูกส่งตัวกลับประเทศตนเอง” นายเบเคลังเสริม

นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังแสดงความยินดีสำหรับพัฒนาการเชิงบวกในเรื่องที่ทางการไทยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ยังขอเสนอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่เป็นช่องว่างในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยทั้งในเชิงกฎหมายและในทางปฏิบัติ ที่เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านั้นต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนนานัปการ รวมทั้งในระหว่างการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองด้วย