วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (6 พ.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (6 พ.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังเริ่มคว่ำบาตรน้ำมันดิบอิหร่านอย่างเป็นทางการ

+/- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปรับตัวลดลง หลังราคาน้ำมันปรับลดลงก่อนหน้านี้ติดต่อกันกว่า 5 วัน

+ สหรัฐฯ เริ่มการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เผยว่าการคว่ำบาตรครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านให้เหลือศูนย์ โดยนาย Mike Pompeo รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่ามากกว่า 20 ประเทศได้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแล้ว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับตัวลดลงมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- สหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้แก่ จีน อินเดีย กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ สามารถนำเข้าน้ำมันดิบได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร

- นาย Hassan Rouhani ประธานาธิบดีอิหร่าน ยืนยันว่าจะยังคงส่งออกน้ำมันดิบต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะโดนคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ

- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ADNOC) วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบไปสู่ระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 2563 และปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปสู่ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573 จากระดับปัจจุบันที่ผลิตอยู่ที่ราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ  หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่อยู่ในระดับสูง และโรงกลั่นมีแนวโน้มคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อให้ความร้อนในช่วงฤดูหนาว

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ  โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังยุโรปที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 61-66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี
  • อุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังหลายประเทศลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. เป็นต้นไป
  • จับตาการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้หรือไม่ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน เตรียมหารือร่วมกันนอกรอบในการประชุดสุดยอดผู้นำโลก G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ในปลายเดือน พ.ย. นี้

-----------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999