'หมอธี' มอบโจทย์สอศ.3 เดือนต้องยกระดับอาชีวสู่สากล

'หมอธี' มอบโจทย์สอศ.3 เดือนต้องยกระดับอาชีวสู่สากล

"หมอธี" มอบโจทย์สอศ.3 เดือนต้องยกระดับอาชีวสู่สากล

วันนี้ (5 พ.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีวศึกษาแห่งชาติสู่สากล ที่ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพื่อจะสรุปทิศทางการยกระดับอาชีวศึกษาว่าจะไปในรูปแบบไหน ซึ่งตนขอมอบเป็นการบ้านให้ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปดำเนินการภายใน 3 เดือนจะต้องให้อาชีวศึกษาก้าวสู้มาตรฐานสากลให้ได้ ขณะเดียวกันยังให้โจทย์คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เรื่องการปลดล็อคใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสำหรับครูพิเศษที่อยู่ในโรงงานหรือสถานประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการให้ยกเว้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น รวมถึงครูรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นครูอาชีวะอยากจะให้มีประสบการณ์จากภาคอุตสาหกรรม เพราะครูอาชีวะเกือบ 70% ไม่มีประสบการณ์ด้านโรงงานเลย พร้อมทั้งจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกอนาคตและมีมตรฐานมากขึ้น ซึ่งจะต้องทำให้การผลิตผู้เรียนสายอาชีพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด

“ตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งได้หารือกับเลขาธิการิกอศ.ว่าปัญหาอาชีวะมีอะไร ซึ่ง พบปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนครูอาชีวะ 18,000 คน เมื่อเห็นปัญหาผมจึงมีนโยบายเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นโรงงาน โดยมีหลักสูตรต่างๆร่วมกับสถานประกอบการเช่นโครงการทวิภาคีแต่ก็ไม่ประสบผลเท่าที่ควร จึงวางรากฐานใหม่แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติขึ้น ดึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าไทยร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการอาชีวศึกษาไทยอย่างจริงจัง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ และมีการทำความร่ววมือกับ pearson education limited โดยนำหลักสูตร Business and techilogy education council (BTEC) ที่เป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาเน้นสมรรถนะด้านอาชีพ ซึ่งจะนำหลักสูตรนี้มาเปิดสอนในสถาบันอาชีวศึกษาของไทยที่มีความพร้อมด้านสถานที่ หลักสูตร และบุคลากร ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาที่เน้นสมรรถนะด้านอาชีพและเป็นการฝึกอบรมที่เข้มข้นส่งผลให้ผู้เรียนสามารถทำงานได้ทันทีหลังจบหลักสูตรและผู้ประกอบการก็สามารถจ่ายค่าจ้างตามความสามารถของเด็กได้”รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า หลังจากนี้ก็คงจะมีการรับรองหลักสูตรอาชีวะนานาชาติมากขึ้น ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องดีและหวังจะกระตุ้นให้อาชีวะศึกษาไทยตื่นตัว

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐและเอกชน ได้ดำเนินการพัฒนาอาชีวศึกษาร่วมกัน โดยหลักสูตร (BTEC) มีความน่าสนใจและสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวตาม แต่ขณะที่หลักสูตรอาชีวะของไทยข้อมีจำกัดมาก ดังนั้นการที่รัฐและเอกชนร่วมมือกันจะทำให้เราผลิตคนได้ตรงกับความต้องการของประเทศ