ไทย-จีน จับมือลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ไทย-จีน จับมือลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ไทย – จีน จับมือลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันนี้ (2 พ.ย.61) เวลา 13.30 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย และนายดู้ เฮี้ยงเว๋ย (Mr.Du Hangwei) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการป้องกัน การสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดี และการคุ้มครองให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ ห้องวัลเลย์ ชั้น 1 โรงแรมแชงกรีลา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
 
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีในการพัฒนา ความร่วมมือด้านต่างๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในส่วนของความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ไม่เพียงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น หากยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างร้ายแรง จึงได้บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขและขจัดปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนาความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
 
พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จะมีผลผูกพันระหว่าง รัฐกับรัฐ ซึ่งช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยครอบคลุมการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การป้องกันการค้ามนุษย์ 2) การสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีค้ามนุษย์ และ 3) การคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและผลประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย
 
"การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ตามกรอบแนวทางที่กำหนดไว้ในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว หากยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ พร้อมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันที่ใกล้ชิดอยู่แล้ว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศต่อไป” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย