อินโดฯ พบ ‘กล่องดำ’ เที่ยวบินมรณะ

อินโดฯ พบ ‘กล่องดำ’ เที่ยวบินมรณะ

ทีมกู้ภัยอินโดนีเซียพบ “กล่องดำ” จากเครื่องบินเที่ยวบิน เจที610 ที่ตกในสัปดาห์นี้แล้ว เพิ่มความหวังในการคลายปริศนาต้นเหตุคร่า 189 ชีวิต

สถานีโทรทัศน์คอมปาส ทีวีของอินโดนีเซีย รายงานช่วงเช้าวันนี้ (1 พ.ย.) ว่า สำนักงานค้นหาและกู้ภัยแห่งชาติ (บาซาร์นาส) เก็บกู้กล่องดำ 1 ใน 2 กล่องจากเครื่องบินโบอิง 737 แมกซ์ของสายการบินไลอ้อนแอร์ ที่ตกในทะเลชวาเมื่อวันจันทร์ (29 ต.ค.) ได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวของคอมปาสระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ใส่กล่องดำดังกล่าวในลังพลาสติกสีขาวขณะนำขึ้นสู่ผิวน้ำ หลังทีมนักประดาน้ำของกองทัพเรือค้นพบและเก็บมาได้

ทีมค้นหาใช้เครื่องตรวจจับโซนาร์ในการจับสัญญาณจากกล่องดำซึ่งปกติมีลักษณะสีส้ม และใช้ยานสำรวจใต้น้ำที่ควบคุมจากระยะไกล (อาร์โอวี) ในการแสดงภาพของสภาพใต้น้ำ

ทั้งนี้ กล่องดำมีความสำคัญในการคลายปริศนาว่าเหตุใดเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดลำนี้จึงประสบอุบัติเหตุตกทั้งที่สภาพอากาศปลอดโปร่ง

ในภารกิจค้นหาวันนี้ บาซาร์นาสเก็บชิ้นส่วนศพได้อีกหลายสิบถุง และคาดว่าจะไม่พบผู้รอดชีวิต

ความสำคัญของกล่องดำ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ระบุว่า การเก็บกู้กล่องดำจะเป็นกุญแจสำคัญ ข้อมูลอันล้ำค่าในนั้นช่วยอธิบายเหตุการณ์เครื่องบินตกได้เกือบ 90% ของเหตุการณ์ทั้งหมด ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพของกล่องดำที่พบ

กล่องดำซึ่งประกอบด้วย 2 กล่อง ได้แก่ กล่องบันทึกข้อมูลการบิน และกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน มีรูปลักษณ์ภายนอกสีส้มและแถบสะท้อนแสง และกฎเกณฑ์สากลกำหนดให้เครื่องบินพาณิชย์ทุกลำต้องติดตั้งกล่องดำ

อุปกรณ์บันทึกข้อมูลเที่ยวบินซึ่งเริ่มใช้งานในช่วงทศวรรษที่ 60 จะเก็บอยู่ในกล่องที่สร้างขึ้นให้สามารถทนต่อแรงกระแทกขั้นสูงสุด เพลิงไหม้ และจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน

แต่ละกล่องจะมีน้ำหนัก 7-10 กิโลกรัม และสามารถอยู่ใต้น้ำลึกถึง 6,000 เมตร หรือทนความร้อนสูงสุด 1,100 องศาเซลเซียสได้นาน 1 ชั่วโมง และเพื่อให้สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น กล่องเหล่านี้จะเครื่องบอกตำแหน่งที่สามารถส่งสัญญาณได้นานถึง 1 เดือน