คุก2ปี ไม่รอลงอาญา 'อดีต ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ' สั่งย้ายไม่ชอบ

คุก2ปี ไม่รอลงอาญา 'อดีต ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ' สั่งย้ายไม่ชอบ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา "พล.ต.ต.สุภลักษณ์ วรรณฤกษ์งาม" อดีต ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ สั่งย้าย "ผกก.สืบสวน" ไปฝ่ายอำนวยการ ขัดระเบียบ ตร. ศาลให้ประกัน 3 แสนรอสู้คดีชั้นอุทธรณ์ พร้อมสั่งห้ามออกนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 31 ต.ค.61 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลนัดพิพากษาคดีหมายเลขดำ อท.180/2560 ที่ พ.ต.อ.พิรพล อัจกลับ อายุ 57 ปี ผกก.สส.ภ.จว.บึงกาฬ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.สุภลักษณ์ วรรณฤกษ์งาม อายุ 61 ปี อดีต ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ เป็นจำเลย ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้เสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด มาตรา 157, เป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหายซึ่งเอกสารใดที่เป็นหน้าที่ของตนที่จะรักษาไว้ฯ มาตรา 158 , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ มาตรา 161 และผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารที่เกิดจากการปลอม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฯ มาตรา 268
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ระบุพฤติการณ์จำเลยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 จำเลยปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยการออกคำสั่งตำรวจภูธรที่ 384/2558 ให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่ง ผกก.ฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรบึงกาฬ (ผกก.อก.ภ.จว.บึงกาฬ) โดยให้รับผิดชอบงานฝ่ายอำนวยการและให้ขาดจากตำแหน่งกับสังกัดเดิม โดยไม่มีกำหนดเวลา แล้วให้ ผกก.อก.ภ.จว.บึงกาฬ ที่ปฏิบัติตำแหน่งอยู่มาดำรงตำแหน่ง ผกก.สส. แทนโจทก์ อ้างเหตุผลในคำสั่งว่าเพื่อความจำเป็นและเพื่อประโยชน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ตามระเบียบการให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ พ.ศ.2552 นั้น กำหนดให้ตำรวจที่จะต้องถูกสั่งนั้น ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน และต้องดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายครบ 2 ปี กับผู้ที่ออกคำสั่งสามารถให้ตำรวจผู้นั้นไปปฏิบัติราชการตามความเหมาะสมได้คราวละไม่เกิน 1 ปี

โดยจำเลยทราบระเบียบดังกล่าวดีอยู่แล้ว และก็ทราบว่าโจทก์ดำรงตำแหน่ง ผกก.สส. ดังกล่าวยังไม่ครบ 2 ปี ซึ่งตำแหน่งนั้นก็เป็นหัวหน้างานตามระเบียบดังกล่าวด้วย แต่จำเลยก็ยังอาศัยอำนาจความเป็นผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 จำเลยยังออกคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬที่ 396/2558 ให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกับร้อยตำรวจโทรายหนึ่ง ตำแหน่งรอง สว.กก.สืบสวน ภ.จว.บึงกาฬ โดยอ้างว่ามีแหล่งข่าวรายงานว่าร้อยตำรวจโทคนดังกล่าวรับเงินจากผู้ค้าไม้พะยูง ซึ่งมีการอ้างเอกสารที่มีผู้ทำปลอมขึ้น แล้วจำเลยกลับส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้กับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แล้วหลังจากนั้นจำเลยก็ออกคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬที่ 397/2558 อีก ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ อ้างว่าได้รับหนังสือรายงานพฤติกรรมข้าราชการตำรวจสังกัดกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ มีส่วนเกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์จากการค้าไม้พะยูง

และระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. 16 ก.ค. 2558 จำเลยยังได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จด้วยการมีหนังสือถึง ผบช.ภ.4 ว่าจำเลยได้สั่งย้ายโจทก์ไปประจำ ศปก.ภ.จว.บึงกาฬ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่าตำรวจในสังกัดเกี่ยวข้องเรียกร้องผลประโยชน์จากการค้าไม้พะยูง ทำให้ ผบช.ภ.4 เข้าใจว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ทั้งที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์กับร้อยตำรวจโทคนดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องผลประโยชน์ และเมื่อวันที่ 8 24 ก.พ. 2559 จำเลยยังจัดทำเอกสารบันทึกข้อความใหม่ที่ใช้เป็นเอกสารในคดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยไว้กับศาลจังหวัดขอนแก่นด้วย เหตุเกิดที่ ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ และ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ต่อเนื่องกัน

โดยศาลได้เริ่มกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 และได้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา เมื่อศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี ไม่มีเหตุรอการลงโทษ ส่วนข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยประกันตัวโดยตีราคาประกัน 300,000 บาท และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล