ศูนย์วิจัยไพรเมท ยกระดับชีววิทย์ไทย

 ศูนย์วิจัยไพรเมท ยกระดับชีววิทย์ไทย

“ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ” ริเริ่มโดยจุฬาฯ ร่วม วช.เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่องานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตยาและวัคซีนเพื่อใช้เองในประเทศและการส่งออก

ทั้งยังยกระดับงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับทางวิชาการจากนานาชาติ และสามารถรับบริการงานวิจัย ทดสอบและผลิตชีววัตถุในระดับพรีคลินิก (สัตว์กลุ่มลิง) ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีศูนย์วิจัยไพรเมท

ศูนย์วิจัยไพรเมทของไทย ตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ทำหน้าที่ผลิตลิงปราศจากเชื้อโรคจำเพาะ 3 ชนิดคือ ลิงแสมหรือลิงหางยาวสายพันธุ์ไทย ลิงวอกอินเดียและลิงมาร์โมเส็ท ในระบบเลี้ยงแบบกึ่งเปิดและระบบปิด ได้รับจัดสรรงบผ่านทั้งในส่วนของงบไทยเข้มแข็งและงบแผ่นดินกว่า 400 ล้านบาท

ลิงเพื่อวิจัยยาและเวชภัณฑ์

ศ.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ กล่าวว่า ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศูนย์วิจัยไพรเมทและดำเนินการวิจัยมีอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้นที่อินโดนีเชียและฟิลิปปินส์ แต่งานวิจัยส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงแคบๆ ไม่หลากหลาย ในขณะนี้ประเทศที่มีศักยภาพสูงทางเศรษฐกิจอย่างสิงคโปร์ บรูไน มาเลเชียและเวียดนาม ยังไม่มี แตกต่างจากอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ต่างก็มีศูนย์ไพรเมทเพื่อรองรับการวิจัย

แม้ว่าขณะนี้จะมีศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล รองรับงานวิจัยระดับพรีคลีนิกในสัตว์ฟันแทะแล้ว และยังมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งที่มีการทดสอบและวิจัยระดับคลินิกในคน แต่ศูนย์ไพรเมทนี้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย 

นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาและวัคซีนให้กับประเทศแล้ว ยังลดการพึ่งพายาและวัคซีนจากต่างประเทศ ประกอบกับไทยมีการระบาดของโรคเขตร้อนหลายชนิด เช่น มาลาเรีย วัณโรค ไข้เลือดออกและไข้ซิก้า แต่ด้วยงานวิจัยทางด้านนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินไปถึงขั้นสุดท้าย เพราะขาดสัตว์ทดลองกลุ่มไพรเมทที่จะใช้ในการทดสอบพิษวิทยาและประสิทธิภาพของยา ซึ่งเป็นการทดลองระดับพรีคลินิกก่อนที่จะนำไปสู่คน

พื้นที่ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย อาคารวิจัยและปฏิบัติการ อาคารเลี้ยงลิงแบบกึ่งเปิดขนาดเล็ก 2 หลังและอาคารขนาดใหญ่ 2 หลัง รวมสามารถจุลิงแสมได้ประมาณ 1,400-1,600 ตัว เป็นลิงแสมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และเป็นลิงที่จับมาจากการแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างคนกับลิง

ส่วนของอาคารวิจัยฯ จะรองรับงานวิจัยโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคความจำเสื่อมและโรคเบาหวาน และงานวิจัยโรคติดเชื้อ เช่น โรคไข้เลือดออกและซิก้า โดยในปี 2561 ศูนย์ได้ยื่นขอรับการรับรองมาตรฐานสากล AAALAC International ด้านการดูแลและเลี้ยงสัตว์ทดลอง และมีแผนที่จะยื่นขอรับการรับรองมาตรฐานสากลด้านห้องปฏิบัติการในปี 2563 คาดว่าจะได้รับการรับรองใน 1 ปี

เดินหน้าเป็นผู้นำในภูมิภาค

นอกจากเป้าในการเป็นศูนย์วิจัยและทดสอบ ศ.สุจินดา ยังตั้งเป้าที่จะสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับสัตว์กลุ่มลิง (สัตว์ไพรเมท) ของเขตภูมิภาคเอเชีย พร้อมกับการเป็นศูนย์เพาะพันธุ์ลิง โดยจะมีความร่วมมือกับกรมอุทยานในการจับลิงแสมเพื่อนำมาเพาะพันธุ์ รวมถึงจะเพิ่มลิงวอกจากเมียนมาที่เป็นสายพันธุ์แท้ เพราะลิงวอกในไทยเป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างวอกกับแสม

ในช่วงแรกจำนวนลิง 1,600 ตัวถือว่าเพียงพอในระดับการทดสอบวิจัย ขณะนี้ศูนย์ได้รับบริการงานวิจัยให้กับหน่วยงานในประเทศ 6 โครงการ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในการทดสอบพิษวิทยาและประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออกและซิก้า และหน่วยงานต่างประเทศ เช่น CYPRUMED จากออสเตรีย ในการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของยารักษาโรคเบาหวานและโรคกระดูกพรุน และจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ในการวิจัยเพื่อรักษาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นต้น

“นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ไพรเมทของไทยแล้ว ยังตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านนี้ในเอเชียภายในปี 2565 โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับอินโดนีเซีย ดังนั้น ศูนย์วิจัยไพรเมทนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับศูนย์วิจัยไพรเมทอื่นๆ ในเขตภูมิภาคเอเชีย อเมริกาและกับภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านงานวิจัยและทดสอบชีววัตถุในระดับพรีคลินิกในสัตว์กลุ่มลิง” ศ.สุจินดา กล่าว