เปิดโมเดลธุรกิจ 'ทีไบค์' Bike Sharing สัญชาติไทย

เปิดโมเดลธุรกิจ 'ทีไบค์'  Bike Sharing สัญชาติไทย

เห็นถึงศักยภาพตลาดการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

ระยะหลังมานี้บริการเช่าใช้จักรยานสาธารณะโมเดล “Bike Sharing” เริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย... 

รณชัย ติยะรัตนาชัย อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เล่าว่า อดีตนักศึกษาและนักศึกษาของสถาบัน ได้จัดตั้งบริษัทเพื่อบุกตลาดให้บริการ Bike Sharing ภายใต้ชื่อ  “ทีไบค์(T-Bike)” ที่พัฒนาโดยคนไทยเป็นรายแรก รวมถึงพัฒนาตัวรถจักรยานอัจฉริยะ ซึ่งออกแบบขึ้นเองร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมของ สจล. และบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย)

โดยเห็นถึงศักยภาพทางการตลาด จากแนวโน้มการที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว อีกทั้งมีเอกชนสนใจจัดหาระบบการให้บริการเช่าจักรยานผ่านแอพไปให้บริการในพื้นที่สาธารณะ

สำหรับการใช้บริการ สามารถเช่ายืมจักรยานผ่านแอพชื่อว่า T-Bike ที่เตรียมเปิดให้บริการเดือนพ.ย.นี้ เชื่อว่าบริการลักษณะนี้จะทำให้การยืมจักรยานมีความสะดวก ลดการใช้จุดจอดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ การเช่ารถ การยืนยันตัวตน และกระบวนการทั้งหมดจะทำได้ผ่านแอพบนมือถือ

ประเดิมเสิร์ฟลูกค้าในสจล.

ด้านโครงสร้างของแอพจะมีแผนที่ ปุ่มกดยืม เพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด มีปุ่มให้ผู้ยืมดูข้อมูลว่าผู้ยืมขี่จักรยานไปไหนบ้าง การล็อคเป็นแบบอัตโนมัติ เมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดตัวล็อคจะปลดล็อคเองอัตโนมัติ ผู้ใช้งานสามารถขี่ไปที่ไหนก็ได้ พอจะคืนก็แค่ดันล็อคกลับเหมือนเดิม และกดปุ่มคืนจักรยาน

สำหรับโมเดลธุรกิจมองไว้ 2 แบบ โมเดลแรก คือ การทำในระบบปิด ช่วงแรกจะนำร่องจากการให้บริการลูกค้าภายในพื้นที่ สจล. หลังจากนั้นจะรุกการขยายระบบออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย โดยเตรียมเข้าไปนำเสนอบริการนี้กับสถาบันการศึกษาแห่งอื่นๆ รวมทั้งองค์กรเอกชน

ปัจจุบันมีลูกค้ารายแรกแล้ว คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งสั่งซื้อรถจักรยานอัจฉริยะล็อตแรก เพื่อให้บริการนักศึกษาภายใน โดยเตรียมนำร่อง 6 เดือนโดยใช้ระบบการหักจากเครดิตในบัตรนักศึกษา ตามจำนวนโควต้าการใช้บริการของมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นวิธีการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เสมือนได้จ่ายค่าใช้บริการจริง

จากนั้นคาดว่าจะเริ่มมีระบบจ่ายเงินในเดือนมี.ค.2562 โดยบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเลือกเชื่อมโยงกับอี-วอลเล็ตของใคร เพื่อให้ผู้ใช้บริการจ่ายเงินง่ายที่สุด

“เรามีหน้าที่ทำระบบพร้อมใช้ให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการ หน้าจอแอพสามารถคัสโตไมซ์ได้ เช่น แสดงเป็นแอพตามชื่อองค์กรลูกค้า และตามด้วยคำว่า powered by T-Bike หรือสัญลักษณ์ตัวอักษร T ก็สามารถเปลี่ยนเป็นตัวอักษรของชื่อองค์กรลูกค้าได้ อีกทั้งหน้าจอแอพ จะแสดงข้อมูลระยะทางการปั่น ตัวเลขแคลอรี่ เป็นต้น”

ผนึกคู่ค้าแตกไลน์บริการ

ส่วนอีกโมเดล จะให้บริการผ่านคู่ค้าที่ต้องการนำไปให้บริการในระบบเปิด ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งบริษัทจะให้บริการในรูปแบบการเก็บค่าใช้บริการ ตามการปลดล็อคแต่ละครั้ง โดยโมเดลนี้ จะทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1.การขายไลเซ่นของแอพ T-Bike ให้ แต่มีข้อเสียในแง่จะไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจในระยะยาว 

ขณะที่ 2.คิดค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการ(Pay Per Time) โดยค่าธรรมเนียมจากแต่ละรายจะไม่เท่ากัน เนื่องจากจะคำนวณจากจำนวนรถจักรยานอัจฉริยะของ T-Bike ที่คู่ค้ารายนั้นๆ จัดซื้อไปให้บริการลูกค้า ปัจจุบันกำลังคุยกับพันธมิตรธุรกิจรายหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทไทยที่เคยร่วมมือกับ Bike Sharing ของต่างประเทศที่เคยเข้ามาในไทย 

อย่างไรก็ดี การที่ Bike Sharing ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ประสบความสำเร็จ เป็นผลสืบเนื่องจากบริษัทสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะจากจีนทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเสียไป จากการเข้ามาทุ่มตลาด ด้วยการให้บริการฟรีนานเกินไป ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคใช้ฟรีจนชิน เมื่อมีการเก็บเงินจึงประสบปัญหา

“การร่วมกับสจล.ให้การใช้บริการหักจากเครดิตในบัตรนักศึกษา จะเป็นวิธีการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เสมือนได้จ่ายค่าใช้บริการจริง มากกว่านั้นต้องมีการออกแบบหรือปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้จักรยาน และสร้างความตระหนักให้คนอยากเปลี่ยนมาใช้จักรยานเป็น Transit Tools ในการเดินทาง”

ดึง‘วีอาร์’เพิ่มจุดต่างธุรกิจ

ปัณณวิชญ์ พัฒน์ธนญานนท์ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ สจล.และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัท จักรยานอิสระ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทได้เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ทีไบค์ด้วยการพัฒนา “VR Bike” ที่เชื่อมจักรยานออกกำลังกายเข้าหากันด้วยระบบไอที และเปิดตัวครั้งแรกในงาน “วิศวะ’61 หรือ Engineering Expo 2018”

โดยมีแรงบันดาลใจจากความชอบออกกำลังกาย และมองว่าการปั่นจักรยานอยู่แต่ภายในฟิตเนสเป็นกิจกรรมน่าเบื่อ ถ้ามีรูปฉากอะไรให้ดูจะน่าตื่นเต้น ประกอบกับเทรนด์เทคโนโลยีวีอาร์และเออาร์กำลังมาแรง

รณชัย เผยว่า VR Bike จะขายเป็นระบบ พร้อมแพ็คเกจการดูแลและบำรุงรักษารายปี โดยทำเป็นออปชั่น ตั้งแต่ 2 คันขึ้นไป พร้อมทั้งจัดหาตัวจักรยาน อุปกรณ์(ดีไวซ์) ธีมของเกม ที่คัสโตไมซ์สำหรับลูกค้าแต่ละราย อีกทั้งมองลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มที่ต้องการซื้อไปประชาสัมพันธ์ในออกบูธ สามารถปรับใส่โลโก้ หรือข้อมูลของบริษัทหรือองค์กรลูกค้าไว้ในบิลบอร์ดในเกม เป็นต้น