สุขสะพรั่ง พลังศิลป์ริมเจ้าพระยา

สุขสะพรั่ง พลังศิลป์ริมเจ้าพระยา

นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นเมืองแห่งความสุขที่สะพรั่งไปด้วยพลังของศิลปะร่วมสมัยกว่า 200 ชิ้นงาน โดย 75 ศิลปิน จาก 33 ประเทศ จัดแสดง 20 สถานที่ ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ภายใต้แนวความคิด สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต (Beyond Bliss)

        ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในเส้นทางการชมศิลปะที่น่าสนใจ เราเริ่มต้นที่ หมาหลง (LostDog Ma Long,2018) ประติมากรรมไฟเบอร์กลาสรูปหมาบูลด็อกปิดทองสูง 5.90 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณทางเข้าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศสออเรล ( Aurele)

        หมาหลง เป็นหนึ่งในซีรีส์ LostDog  ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประกาศตามหาสุนัขหายในนิวยอร์ก โดยศิลปินนำ “หมาหลง”มาเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคม ไม่ว่าเจ้าของจะตามหามันเจอหรือมันจะตามหาเจ้าของเจอหรือไม่ หมาหลงที่ในกรุงเทพฯตัวนี้กำลังมองหาเส้นทางแห่งความสุข นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางที่ดีทีเดียว

       ใกล้กันเป็น อาคารบริษัทอีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์รีไววัล (Renaissance Revival) ที่ยังคงความงามและเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การค้าระหว่างสยามกับเดนมาร์ก อาคารโบราณที่ไม่ได้เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมบ่อยนัก ครั้งนี้เปิดพื้นที่ให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในหลากหลายมิติ อาทิ เช่น

         ซาร่า ฟาวริโอ ศิลปินชาวฝรั่งเศส นำผลงานอินสตอลเลชั่นที่เล่นกับพื้นที่ด้วยผลงาน Nothing is led comparable’2018 ที่นำเอาไม้พื้นถิ่น เช่น ไม้สัก ไม้กันเกรา ไม้จันทน์ มาจัดวางให้ดูคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเก่า เปรียบเสมือนบทสนทนาระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

            ในขณะที่ แอนดรูว์ สตาห์ล ศาสตราจารย์ด้านวิจิตรศิลป์และหัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรมที่ UCL Slade School of Fine Art เล่าเรื่องราวการเดินทางท่ามกลางวัฒนธรรมต่างชาติต่างภาษาผ่านผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนภาพกรุงเทพฯในหลายมุม พร้อมกับงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นจากสิ่งของที่เก็บได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา น่าทึ่งมากที่เราจะได้เห็นการเกิดใหม่ของสิ่งของที่ถูกทิ้งขว้างที่คืนชีพได้อย่างมีศิลปะขณะเดียวกันก็อดรู้สึกบาดใจลึกๆ

            กรีดความรู้สึกแบบเจ็บลึกๆกับพฤติกรรมทิ้งของลงแม่น้ำด้วยผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ที่สร้างตู้โชว์สัตว์สต๊าฟสายพันธุ์ประหลาด ผลพวงจากพฤติกรรมมักง่ายของมนุษย์ที่ต้องหยุดกันได้แล้ว

              ส่วน อี บุล ศิลปินเกาหลี สร้างเขาวงกตหุ้มด้วยเทปสีเงินที่ไม่เพียงจะท้าทายเรื่องของแรงโน้มถ่วงและความสมดุลย์แล้ว ยังช่างดูขัดแย้งกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารอย่างสุดขั้ว

             ข้ามฝั่งไปที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร  เราได้เห็นผลงาน Zodiac Houses ,1998-1999 ของ มณเฑียร บุญมา ศิลปินผู้ล่วงลับหากผลงานยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่รวมทั้งผู้ชมได้เสมอ

           การนำผลงานประติมากรรมที่นำรูปทรงยอดแหลมของโบสถ์โกธิคที่ภายในมีสัญลักษณ์ของดวงดาวตามจักรราศีที่ศิลปินสร้างขึ้นเพื่อแสวงหาความสงบ และความต้องการสื่อสารกับโลกหลังความตาย เมื่อได้มาตั้งอยู่บนศาลาในวัด สถานที่ประกอบพิธีกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างคนเป็นกับคนตาย กล่าวได้ว่าเป็นจุดพบกันที่สะเทือนอารมณ์ได้ไม่น้อย

             “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต คุณจะทำความดีอะไรทิ้งไว้บนโลกใบนี้” นีโน่ สาระบุตร ทิ้งคำถามไว้ด้วยการโปรยเซรามิกรูปหัวกระโหลกกว่า 125,000 ชิ้นไว้บนทางเดินรอบเจดีย์ประธานวัดประยุรวงศาวาส โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมเปลือยเท้าสัมผัสความรู้สึกขณะเหยียบย่างลงบนชิ้นงาน

          ที่วัดแห่งนี้ยังมีผลงานศิลปะของ กมล เผ่าสวัสดิ์ อานนท์ นงเยาว์ และ กฤช งามสม  จัดแสดงอยู่ภายในศาลาการเปรียญและเขามอให้ชมกันอีกด้วย

           นั่งเรือต่อมาที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขามอที่เคยหลับใหลไปพร้อมกับกันเวลาอันล่วงเลย ได้รับการปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งในผลงานข้ามจักรวาล ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์       

         ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ชวนเราสำรวจโลกภายนอกตัวเราผ่านภาพสะท้อนภายนอกของเขามอที่ได้รับการทำความสะอาดและปรับปรุงพื้นที่ขึ้นมาใหม่โดยอาศัยภาพถ่ายโบราณเป็นเอกสารอ้างอิง จากนั้นชวนเราเดินเข้าไปในเขามอเพื่อสำรวจโลกภายในจิตใจ เพื่อพบกับว่าแท้จริงแล้วตัวเราก็ไม่ต่างจากเศษก้อนหินดินทราย สุดท้ายก็เหลือเพียงความว่างเปล่า มนุษย์เราต่อให้ใหญ่โตแค่ไหนเราก็เป็นเพียงอนุภาคเล็กน้อยในจักรวาลกว้างไกลเท่านั้นเอง

           ยักษ์ไทย ยักษ์จีน ทำหน้าที่เป็นทวารบาลเหมือนกัน ถ้าจับมาเป็นคู่แฝดเหมือนอิน-จัน จะเป็นยังไงนะ ? เสน่ห์ของเทศกาลบางกอก เบียนนาเล่ ประการสำคัญคือ เราจะได้เห็นการค้นคว้าประวัติของสถานที่แต่ละแห่งของศิลปินที่นำมาตีความและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่

             ยักษ์แฝดไทยจีนนี้ก็เช่นกัน คมกฤษ เทพเทียน บอกว่ายิ่งค้นคว้าก็ยิ่งพบข้อมูล แฝดสยามที่โด่งดังนั้นเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 2 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทรงโปรดให้สร้างสวนแบบจีน โดยให้ช่างไทยเขียนแบบงานประติมากรรมไปให้ช่างจีนที่เมืองหนิงโปทำแล้วส่งกลับมา ด้วยความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและความคุ้นเคย ผลงานบางชิ้นเช่น ครุฑ แทนที่จะมีความขึงขังทรงพลังอำนาจ ช่างกลับปั้นเป็นครุฑที่มีหน้าอกคล้ายกับกินรี เป็นต้น

          คมฤกษจึงนำเอาประติมากรรมครุฑแบบจีนมาใส่หน้าอกครุฑที่เต็มไปด้วยพลังแบบไทยเข้าไป นอกจากนี้ยังจับยักษ์ไทยกับยักษ์จีนมาเป็นแฝดกันเพื่อสื่อความสัมพันธ์ไทย-จีนที่เป็นเหมือนพี่กับน้อง โดยสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมไฟเบอร์กลาสยืนกลมกลืนอยู่ในบริเวณวัด

          ข้ามฝั่งเจ้าพระยากลับไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน จัดแสดงผลงานน่าชมของศิลปินชื่อดัง หวง หย่ง ผิง ศิลปินจีนผู้ปลุกกระแสอาวอง-การ์ดขึ้นมาในจีน จิตต์สิงห์ สมบุญ ศิลปินไทยที่สนุกกับการใช้เทคนิคใหม่ๆในการสร้างสรรค์อย่างไร้กรอบ ภาพตะวัน สุวรรณกูฎ และปานพรรณ ยอดมณี 2 ศิลปินหญิงที่ชวนเราย้อนกลับไปมองภาพอดีตของสถานที่อันเป็นสถานที่รวมของศิลปะและสรรพวิชา โดยนำเสนอแนวทางออกมาแตกต่างกันตามประสบการณ์

อ่านต่อ "ศิลป์สะพรั่งที่วัดโพธิ"

หมายเหตุ : รายละเอียดเพิ่มเติม www.bkkartbiennale.com FB : BkkArtBiennale