คลังประเมิน เศรษฐกิจไทยปี 61 คาดขยายตัว 4.5%

คลังประเมิน เศรษฐกิจไทยปี 61 คาดขยายตัว 4.5%

คลังประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนตุลาคม 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3 – 4.7) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะยังคงสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 – 1.4) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

ทั้งนี้ รองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลก”

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3 – 4.7) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับอานิสงศ์จากเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกของปี 61 ขยายตัวมากกว่าที่คาดถึงร้อยละ 4.8 ประกอบกับได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 4.4) เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 – 4.1) ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 5.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.9 – 5.3) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.4 – 2.8) สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะยังคงสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย โดยปริมาณส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.4 – 4.8) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 – 8.0) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 – 1.4) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 39.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5 – 7.9 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 20.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 20.7 – 21.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.8 – 8.2) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 15.8 – 16.2)