ส่งออกไทย“ฝ่ากระสุน” พลิกเกมกลางสงครามค้าโลก

ส่งออกไทย“ฝ่ากระสุน” พลิกเกมกลางสงครามค้าโลก

บนสนามการค้าโลก ที่เกิดบาดแผลฉกรรจ์จากการฟาดฟันของ 2 ยักษ์มหาอำนาจเศรษฐกิจ“จีน-สหรัฐ” คนตัวเล็กอย่างไทยผู้พึ่งพาส่งออกดันจีดีพี จำต้องพลิกเกมรบคว้าชัย เป้าหมายส่งออกท้าทาย8%ปีนี้ กลางสมรภูมิค้าโลกเดือดพล่าน..!!

ความร้อนแรงของสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอันดับ 1 อย่างสหรัฐ และอันดับ 2 จากจีน กำลังสู้รบกันข้ามโลก ด้วยการตั้งกำแพงพาษี (ขึ้นภาษีนำเข้า) ตอบโต้กันไปมาโดยรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมแล้วส่งผลให้สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีนรวมเป็นเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าจากจีน

ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้จีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐรวมเป็น 1.11 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือครอบคลุมเกือบ 90% ของสินค้านำเข้าจากสหรัฐทั้งหมดของจีน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจโลก หั่นการเติบโต อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปี 2561 ลง 0.2% อยู่ที่ 3.7%  เช่นเดียวกับ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกปี 2561 อยู่ที่ 3.9% จากระดับ 4.4% เป็นผลจากสถานการณ์โลกที่ตึงเครียด 

ไม่เพียงเท่านั้นปรากฎการณ์ดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อประเทศ “คู่ค้า”รวมถึงไทย ทั้งผลกระทบทางตรงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า และผลกระทบทางอ้อมจากการเป็น“ซัพพลายเชน”ในกระบวนการผลิตสินค้าไปยังสองประเทศนี้

ล่าสุด ตัวเลขส่งออกไทยในเดือน ก.ย.ปีนี้สะท้อนชัด เมื่อมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,700 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับเป็นการหดตัวครั้งแรก ในรอบ 19 เดือนหรือกว่า“ปีครึ่ง” โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากการจากสงครามการค้า(Trade War) 1.8 % หรือมูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 12,800 ล้านบาท ( ณ อัตรแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากก่อนหน้านี้มูลค่าส่งออกไทย เติบโตทุบสถิติมาต่อเนื่อง โดยในเดือนส.ค.ปีนี้การส่งออกไทยเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 22,800 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัว 6.7% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ส่งผลทำให้รวม 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.)ของปีนี้การส่งออกขยายตัว 10% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี

แม้ผลกระทบด้านสงครามการค้า จะยังเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออก เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ “กระทรวงพาณิชย์” ต้องเร่งวางยุทธศาสตร์การตลาดรับมือรับมือความแปรปรวนนี้ ผ่านการประชุมทูตพาณิชย์(สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ) 59 แห่งทั่วโลก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  ได้ให้โจทย์ในการส่งออก ไม่เพียงปีนี้ที่ยังคงเป้าส่งออกที่ 8% แต่ยังหมายรวมถึงในปี 2562 ที่จะต้องรักษาโมเมนตัมการส่งออกให้ขยายตัวที่ 8% บนความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบทั้งสงครามการค้าที่ยิ่งปะทุรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันขาขึ้น การเมืองโลก รวมถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกหดตัว

**แจกโควตาจัดกลุ่ม รุก High Growth

โดย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มองเป้าหมายท้าทายของ 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปีว่า จะต้องทำให้การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,945 ล้านดอลล่าร์ ขณะที่ในปี 2562 การจะรักษาระดับการเติบโตของการส่งออก หมายถึงต้องทำให้มูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 23,000 ล้านดอลล่าร์

“การเติบโตในปีหน้าถือว่าท้าทาย เพราะข้อเท็จจริงปีที่ผ่านมา 2560 ก็เติบโตเกือบ10% (9.9 %) ปีนี้ก็ต้องเป้าเติบโตต่อเนื่อง 8%จากฐานส่งออกที่ใหญ่และปีหน้าอีก 8%บนปัจจัยเสี่ยงที่เราจะต้องทำให้เป็นโอกาสของเรา” เขาประเมิน

เสนาบดีประจำกระทรวงพาณิชย์ หรือเซลล์แมนของประเทศ จึงแบ่งโจทย์การบ้านให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เข็นตัวเลขโดยการแบ่งเป็น ตลาดที่เติบโตสูง (High Growth) และตลาดที่เป็นลบ จัดแผนกลยุทธ์แตกต่างกัน โดยตลาดที่มีการเติบโตสูงต้องเร่งเข้าไปเพิ่มยอดการค้า โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดใกล้บ้านที่ต้องรุกสร้างความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพราะมีสัดส่วนส่งออกถึง 27% และตลาดที่เติบโตอยู่แล้วอย่าง อินเดีย  เป็นต้น ขณะที่ตลาดที่มีความเสี่ยงและช่วงที่ผ่านมาติดลบอย่างตะวันออกกลาง ก็ต้องจัดทัพบุกตลาด เพื่อหาช่องว่างของตลาดที่ยังหลงเหลือ 

ขณะที่“ยุทธศาสตร์ระยะสั้น”คือการสร้างการเติบโต พลิกวิกฤติสงครามการค้าเป็นโอกาสของสินค้าไทย เช่น การไปแสวงหาการผลิตสินค้าที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐไม่ได้ และสหรัฐส่งไปจีนไม่ได้ให้ดึงกลับมาที่ไทย ถือเป็นการฉกฉวยจังหวะของการดึงฐานการผลิต (OEM) ปลดล็อกปัญหากลุ่มผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบระยะสั้น ส่วนระยะยาวจึงเชิญชวนบริษัทในจีนและสหรัฐเหล่านี้เข้ามาลงทุนในไทย

“ได้ประสานงานไปยังหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท.) และทูตพาณิชย์ให้ไปแสวงหาโอกาสการผลิตสินค้า ที่จีนเสียโอกาสไปสหรัฐ และสหรัฐเสียโอกาสไปในจีนซึ่งมีมูลค่ามหาศาลถ้าเราดึงการผลิตในไทยได้"

**ชูแบรนด์ไทยแทรกกลางสหรัฐ-จีน

ขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา บอกว่า ในช่วง 9เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.)อัตราการส่งออกของไทยไปสหรัฐ ขยายตัว 12% ปี 2561ตั้งเป้าหมายทั้งปีไว้ที่ 7% และปี 2562 ตั้งเป้าหมายขยายตัว 6% โดยตลาดสหรัฐมีสัดส่วน 14.7%ของการส่งออกทั้งหมด เป็นอันดับ 2 รองจากอาเซียน

กลยุทธ์ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในช่วงที่สหรัฐฯกำลังสกัดสินค้าจากจีน ไทยต้องเร่งเข้าไปฉกฉวยโอกาสนำเสนอความเป็นสินค้าไทย (Thai DNA)ขายความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล โดยใช้เครือข่ายทางการค้า สร้างแบรนด์ประเทศ และแบรนด์จากสินค้าไทย นำเสนอสินค้าจากท้องถิ่นไทย (Brand Collaboration & Marketing Networks)

โดยสินค้าไทยยังใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement: USMCA) ซึ่งเป้าหมายเพื่อรวมกลุ่มการเจรจาพัฒนาการค้าให้เข้มแข็งเพื่อสร้างการต่อรอง และกีดกันสินค้าจากจีนและเวียดนามเป็นหลัก เพราะเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)เชื่อมต่อกัน ไทยจึงใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาซัพพลายเชนไปเชื่อมต่อโดยตรงกับกลุ่มประเทศผู้นำเข้าแทนผ่านซัพพลายเชนจากจีน

ขณะที่ในตลาดเก่าย่อมมีตลาดใหม่ และตลาดรองที่ยังมีศักยภาพที่สินค้าไทยยังไม่ได้เข้าไปเต็มที่ในภูมิศาสตร์ที่เข้าถึงยาก ประกอบด้วย กลุ่มลาตินอเมริกา กลุ่มหมู่เกาะ แคริบเบียน และกลุ่มรัฐมีภูเขา (Mountain states)ส่วนกลุ่มคนที่อาศัยในสหรัฐมีหลากหลายเชื้อชาติ ต้องเข้าไปสือสารวางแผนการตลาดอย่างชัดเจน ประกอบด้วย สเปนและโปรตุเกส (Hapanics),เอเชีย (Asians) และกลุ่มมิลเลนเนียลส์ คนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคในตลาด รวมถึงการส่งเสริมอาหารไทยและธุรกิจร้านอาหารไทย เป็นหัวหอกสำคัญที่เป็นจุดแข็งไทยที่มีโอกาสต้องขยายตลาดปักธงให้ครอบคลุมในพื้นที่ที่นิยมสินค้าไทย

ด้าน สกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)ณ นครหนานหนิง สาธาณรัฐประชาชนจีน บอกว่า สำหรับเป้าหมายการการส่งออกไปจีนและฮ่องกง ปี 2561 ขยายตัว 8%หรือมูลค่า 45,000 ล้านดอลล่าร์ และปี 2562 กลุ่มจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของมูลค่าการค้าไว้ที่ 12%หรือมูลค่า 50,000 ล้านดอลล่าร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าไทย-จีนที่กำหนดไว้ร่วมกันที่มูลค่า 140,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564

โดยมองว่า ประเด็นของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ส่งผลกระทบเชิงบวกกับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ ผลไม้สดและแปรรูป อาหารทะเลสดและแปรรูป ซึ่งไทยสามารถขยายตลาดและเร่งผลักดันในกลุ่มนี้ให้ส่งออกมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตจีนหันมาย้ายฐานการผลิต หรือจ้างไทยผลิตสินค้าบางชนิดเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ เช่น โรงงานธัญพืชแปรรูป รวมถึงกลุ่มบริษัทข้ามชาติผุ้ผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานการผลิตใน และกระจายอยู่ใน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นโอกาสดึงมาลงทุนและย้ายฐานการผลิตมาไทย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การค้าเร่งการส่งออกและฟื้นความสัมพันธ์กับจีน ผ่านการประชุมJC Thai Chinaครั้งที่ผ่านมา สคต.จีนและฮ่องกง ได้นำเสนอ 3 แผนในการเพิ่มมูลค่าการค้า คือ 1.Connectivity & Logistic เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในปีที่ผ่านมา ไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์ในรูปของStrategic Partnershipในพื้นที่ปากมังกรของจีนPPRD (Pearl Pan River Delta)และGBA (Greater Bay Area)ทำตลาดเชิงรุกทางภาคตะวันตกของจีนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเศรษฐกิจจีน – อาเซียน เริ่มจากมลฑลกว่างซีฯ ผ่านกุ้ยโจว ฉงชิ่ง และกานซู่ เข้าไปเชื่อมต่อกับซัพพลายเชนการผลิตของไทย

2.เพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าด้วย E-Commerce เพราะตลาดจีนการซื้อขายออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดถึง 25%ในช่วง3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2560มีมูลค่าการค้าออนไลน์สูงถึง 28.6 ล้านล้านหยวน จึงเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs)

3.ประชาสัมพันธ์สินค้าไทยเชิงรุกเน้นการใช้สื่อ Social Media และ Influencers ในการสร้างการรับรู้และถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าและบริการของไทย เช่นThai product experience หรือเน้นประชาสัมพันธ์สินค้าเชิงลึก เช่น ให้ผู้บริโภครู้จัก ทุเรียนหมอนทอง

“ตลาดจีนและฮ่องกงแตกต่างในด้านพฤติกรรมและกำลังซื้อผู้บริโภค ที่หลากหลาย สคต.จะปรับแผนการดำเนินการตามกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดนโซนชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ จะเน้นสินค้าคุณภาพ (High end) สินค้าแบรนด์หรู (Luxury) สินค้าที่มีดีไซน์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะที่โซนภาคตะวันตกและใต้ เช่น เฉิงตู คุนหมิง หนานหนิง กวางโจว จะเน้นสินค้าระดับกลาง-สูง

**รุกหนัก“อาเซียน” -“อินเดีย”

ด้านจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา เผยถึงแผนกลยุทธ์ในการบุกตลาดอาเซียนว่า เป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตดีส่วนใหญ่เกิน 7%เพราะกำลังเข้าสู่ยุคโมเดิร์นเทรด และยังมีการขยายตัวของตลาดออนไลน์ ขณะที่ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีในสายตาประเทศเหล่านี้ อีกทั้งยังมีข้อตกลงใหม่ ที่เอื้อต่อการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา และกัมพูชา เชื่อมต่อกับไทยโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ที่ยังเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจจีน

ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์จึงต้องสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการSMEsให้เข้าไปปักธงสู่โกลบอล ผ่านเครือข่ายนักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจไทย ทั้งสินค้าและบริการใหม่ รวมถึงการเจาะเมืองรอง และเจาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ซูเปอร์ริช ในประเทศอาเซียน

ด้านสุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) มองความสำคัญของตลาดในเอเชียใต้ว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสงครามการค้า โดยเฉพาะอินเดีย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นเรนทรา โมที เข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจอินเดียให้เปิดกว้าง และขยายตัวอย่างรวดเร็วคาดว่าปี 2562 จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 7%

กลยุทธ์คือการเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการSMEsผลักดันธุรกิจบริการและธุรกิจสร้างสรค์ รวมถึงแบรนด์ไทย เข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการเป็น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

---------------------------------------------

ผ่าแผนเดินหน้า-ตั้งรับ สงครามการค้าโลก

ผลศึกษาจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงสถานการณ์ภายหลังจาก โดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ งัดสารพัดมาตรการเพื่อปกป้องตลาดและอุตสาหกรรมภายในประเทศ ผ่าน 3 นโยบาย คือ นโยบายสร้างสมดุลการค้า (Fair Trade) โดยสกัดกั้นสินค้าจากประเทศที่ทำให้การค้าสหรัฐขาดดุล โดยพุ่งเป้าไปที่จีนเป็นเป้าหลัก เพราะขาดดุลการค้าสูงเป็นอันดับหนึ่ง , นโยบายซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่ผลิตในสหรัฐ (Buy American) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนอเมริกันเป็นหลักผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้ชนชั้นกลาง (Hire-American)

จากนั้นในปี 2561 จึงออกมาตรฐานปกป้องการค้าใน 4 กลุ่มสินค้า คือ 1.เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ 2.โซลาร์เซลล์ 3.เหล็ก 4.อลูมิเนียม ที่บังคับใช้ทุกประเทศ และมีมาตการพิเศษที่บังคับใช้กับจีนประเทศเดียว ส่งผลทำให้เกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าหลัก 6 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ คือ จีน เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย และตุรกี ซึ่งมาตรการการค้าของสหรัฐที่นำมาใช้กับ 6 ประเทศ ส่งผลกระทบรวมมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลล่าร์ หรือสัดส่วน 2.12 %ของการนำเข้าทั้งหมดของโลก

ผลจากการสาดกระสุนทางการค้าสองประเทศยักษ์ใหญ่ และคู่ค้า กดดันบรรยากาศการค้าของโลกภาคธุรกิจทั่วโลกระมัดระวังและวางแผนการค้าการลงทุน และเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุน (Investment Flow)ไปสู่พันธมิตรใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง จึงเกิดขั้วการค้าใหม่ๆ เช่น จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าจาก บังคลาเทศ ลาว เกาหลีใต้ และศรีลังกา ภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Trade Agreement)รวมถึงจีนหันมาเพิ่มความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น เป็นต้น

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงแผนการรับมือการค้าโลกว่าไทยควรยังคงยึดมั่นในจุดยืนและร่วมมือกับประเทศต่างๆ ผลักดันให้สหรัฐ ดำเนินมาตรการให้สอดคล้องทิศทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

โดยแนวทางการรับมือเชิงรุกสำหรับสินค้าส่งออกของไทยจะต้อง หาตลาดส่งออกใหม่ โดยกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก (diversify)เพื่อปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การค้าโลก และต้องปรับกลยุทธ์และพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับความต้องการและศักยภาพการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงตามกลุ่มเซ็เมนท์ของแต่ละตลาดเป้าหมาย รวมไปถึงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทำข้อตกลงการค้าเสรี และหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (FTA, Strategic Partnership)ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดทดแทน  และฉวยโอกาสดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งด้านเทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ และในระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษ (high-tech / S-curve / EEC) และยังต้องเข้าไปขยายการลงทุนในประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี(GSP)จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างเป็นแต้ม ต่อในการส่งออกไปสหรัฐฯ

ส่วนมาตรการเชิงรับต้องติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายสินค้าจากประเทศต่างๆ มายังไทย คอยสอดส่องป้องกันมิให้เกิดการสวมสิทธิ์ (circumvention)หรือหลบเลี่ยงภาษี ที่สำคัญต้องสื่อสารให้สหรัฐฯ เห็นถึงพัฒนาการของไทยด้านต่างๆ ที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ อาทิ การคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา และแรงงาน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการนำสินค้าไทยเข้าตลาดสหรัฐ