เทคนิคผลิตข้าวมาตรฐาน GAP ของชุมชนชาวสวนแตง จ.สุพรรณบุรี

เทคนิคผลิตข้าวมาตรฐาน GAP ของชุมชนชาวสวนแตง จ.สุพรรณบุรี

เทคนิคผลิตข้าวมาตรฐาน GAP ของชุมชนชาวสวนแตง จ.สุพรรณบุรี ลดต้นทุนและเพิ่มมูลผลผลิตค่าสินค้าข้าว

การทำนาเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของเกษตรกรไทย เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของภาคการเกษตร กรมการข้าวได้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ที่ได้รับรองมาตรฐานข้าว GAP เพื่อให้สมาชิกเกษตรกรภายในกลุ่มลดต้นทุนและเพิ่มมูลผลผลิตค่าสินค้าข้าว ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนสวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สมัครเข้าร่วมโครงการตลาดเชื่อมโยงข้าว GAP และผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าว GAP ประเภทข้าวทั่วไประดับแปลง

ประกอบด้วยข้อกำหนดในเรื่องต่างๆ คือแหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร การจัดการคุณภาพก่อนการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การขนย้าย การเก็บรักษาและการรวบรวมข้าวเปลือก การบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญการยกระดับมาตรฐานผลผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP

นายบุญเกิด แสงเจริญธรรม สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนสวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตอนนี้ทำนาบนพื้นที่จำนวน 6 ไร่ มีแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม กรมการข้าวได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ แนะนำในเรื่องต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการอบรมการใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสม และห้ามใช้สารอันตรายที่ก่อให้เกิดมลพิษทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค พร้อมทั้งสนับสนุนในเรื่องของ เมล็ดพันธุ์ สารชีวภัณฑ์ เครื่องหยอดข้าว สอนอบรมวิธีการทำปุ๋ยสั่งตัด เพื่อลดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด โดยข้าวที่จำหน่ายมีการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เพราะว่าสมัยนี้คนเจ็บป่วยกันบ่อย สุขภาพก็ไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากว่าทานสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ทำให้ตอนนี้ผู้บริโภคหันมาบริโภคข้าวอินทรีย์มากยิ่งขึ้น

ก่อนจะได้รับรองมาตรฐาน GAP เกษตรกรต้องเข้าร่วมกลุ่มนาแปลงใหญ่ จากนั้นมีขั้นตอนการขอรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีคือ เกษตรกรที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อให้ได้รับรองมาตรฐานข้าว GAP ต้องไปกรอกใบสมัครที่หน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักเกษตรจังหวัด จากนั้นก็เข้าร่วมการฝึกอบรมจากสำนักงานเกษตรที่เกี่ยวข้อง จะมีการบันทึกข้อมูลและปฏิบัติตามข้อกำหนด GAP และมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจประเมินเบื้องต้น มีคณะทบทวน พิจารณาตัดสินใจให้การรับรอง พอผ่านการรับรองแล้ว ทางกรมการข้าวจึงได้ออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรที่ผ่านกระบวนการ ที่ถูกต้องทุกขั้นตอน

การผลิตข้าวเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP นั้น จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวลงพื้นที่เพื่อสำรวจแปลงนาของสมาชิกเกษตรกร ว่าอยู่ในระดับที่ต้องใช้สารเคมีได้หรือยัง หากยังก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสารชีวภัณฑ์ใช้เองก่อนในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าแปลงนาของสมาชิกกลุ่มอยู่ในระดับที่ต้องใช้สารเคมีก็สามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการข้าว โดยมีการใช้สารเคมีที่ถูกวิธี และเก็บให้ห่างจากที่อยู่อาศัย ที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ทำให้เกษตรกรได้รับสารพิษ และห้ามใช้สารเคมีต้องห้าม ในกระบวนการผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าว GAP

จะเห็นได้ว่าการผลิตข้าวมาตรฐาน GAP เป็นต้นแบบแรงจูงใจให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพ ด้วยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งต่อชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว และผู้บริโภค จะสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการค้าข้าวไทยที่แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอีกด้วย