'ชำนาญ' เซ็งระเบียบถอดถอนไม่มีไต่สวนเหมือนจริยธรรมนักการเมือง

'ชำนาญ' เซ็งระเบียบถอดถอนไม่มีไต่สวนเหมือนจริยธรรมนักการเมือง

"ชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ออกลูกเซ็งระเบียบถอดถอนไม่มีไต่สวนเหมือนจริยธรรมนักการเมือง แต่ยอมรับผลกระบวนการมีมาแล้วก็ผ่านไป คงหน้าที่ผู้พิพากษาทำอรรถคดีต่อจนครบ 65 ปี คิดบวกเป็นอิสระพ้นภารกิจหนัก

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.61 เวลา 16.45 น. นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่มีความตึงเครียด ภายหลังรับทราบผลจากสื่อมวลชน เกี่ยวกับมติถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ชั้นฎีกา ซึ่งมีผลทันทีตั้งแต่วันนี้ว่า มติถอดถอนให้พ้นจาก ก.ต.ชั้นฎีกาวันนี้ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนในตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาที่จะต้องพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งตนก็จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ต่อไปจนครบอายุราชการ 65 ปี คือเดือน ก.ย.62 ส่วนต่อไปจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนถึงอายุ 70 ปีหรือไม่ ตนเห็นว่ายังเป็นเรื่องไกลไป

ขณะที่วันนี้ก็มีกลุ่มเพื่อนผู้พิพากษาที่ติดตามและโทรมาให้กำลังใจอยู่ด้วย สำหรับครอบครัวของตนที่ผ่านมาเราก็ให้กำลังใจกัน ส่วนตัวขอยืนยันว่าไม่มีอะไร ตนก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม ยังเป็นนายชำนาญคนเดิม โดยต่อไปก็คือการรอพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นจริงในส่วนที่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆ ไว้ตามกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาต้องบอกว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ยังไม่ได้ปรากฏ หรือเป็นที่ยุติออกมา โดยกระบวนการถอดถอนมิได้มีการไต่สวน มีแต่เพียงกระบวนการที่ให้ส่งคำชี้แจงเป็นเอกสารปิดประกาศให้กับผู้พิพากษาทั่วประเทศได้รับทราบ ซึ่งระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเข้าชื่อ และการลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2544 ก็มิได้กำหนดขั้นตอนให้มีการไต่สวน ต่างกับระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 (ที่ออกตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 เรื่องมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ) ซึ่งเป็นระเบียบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดวิธีการขั้นตอนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยการไต่สวนไว้อย่างละเอียด

ซึ่งตนก็เห็นว่าระเบียบดังกล่าวนักการเมืองยังมีโอกาสมากกว่า ก.ต.เสียอีก ที่จะได้นำข้อเท็จจริงมาชี้แจงและมีการไต่สวน โดยระหว่างที่มีการพิจารณาจะออกระเบียบที่ประชุมใหญ่นั้น ตนก็ได้นั่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ในใจก็ยังนึกว่าเป็นระเบียบที่กำหนดกระบวนการไว้อย่างละเอียด ส่วนข้อกล่าวหาของตนก็มีเพียงกระบวนการติดคำชี้แจงไว้ที่บริเวณศาลให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศได้อ่าน ซึ่งข้อเท็จจริงยังมีปัญหาว่าผู้พิพากษาทั้งหมดที่มีสิทธิลงคะแนนจะได้อ่าน และยืนอ่านคำชี้แจงของตนทั้งหมดหรือไม่ โดยตนเห็นว่ายังโชคดีที่ระหว่างกระบวนการ สื่อมวลชนก็ได้นำเสนอคำชี้แจงผ่านสื่อให้ผู้พิพากษาทั่วไปและประชาชนได้รับทราบด้วย เรียกว่าตนได้ทำเต็มที่ทุกช่องทางตามที่ระเบียบของการถอดถอนได้กำหนดไว้ในขณะนี้อย่างดีแล้ว แต่ที่ผ่านมาตนได้ยินว่ามีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคุยกันถึงกระบวนการถอดถอน ก.ต.ที่ยังงงอยู่เหมือนกันว่าไม่มีกระบวนการไต่สวนเหมือนข้อกล่าวหาต่อนักการเมือง

เมื่อถามถึงกรณีที่ประชุม ก.ต.มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นว่านายชำนาญจะได้กระทำการขัดต่อประมวลจริยธรรมผู้พิพากษาหรือไม่นั้น

นายชำนาญ กล่าวว่า นี่แหละ ก็แสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาของตนก็ยังไม่ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ยุติ แต่กลับมีกระบวนการถอดถอนขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมามีเพียงหนังสือแจ้งให้ทราบจาก ก.ต.เท่านั้นว่าให้ตั้งคณะกรรมการสอบฯ แต่กระบวนการอื่นๆ ที่จะมาสู่การชี้แจงยังไม่ได้ทำอะไรเลย

ขณะที่ นายชำนาญ ยังได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองต่อกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า ตำแหน่ง ก.ต.ถือว่าเป็นภารกิจหนึ่งที่ตนเคยถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ เมื่อมีมติถอดถอนแล้วตนก็ยอมรับ กระบวนการมีมาแล้วก็ให้ผ่านไป เพียงแต่อยากจะตั้งคำถามว่ากระบวนการที่ไม่ได้มีการไต่สวน มีเพียงการปิดประกาศคำชี้แจงนั้น ถือว่าเพียงพอ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ส่วนตัวที่ผ่านมาคิดว่าการทำหน้าที่ในฐานะ ก.ต.ก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการดูแลให้ความเป็นธรรมผู้พิพากษา เมื่อวันนี้ต้องพ้นภารกิจนี้ที่หนักและเครียดอยู่เหมือนกัน ก็ไม่มีอะไร ตนรู้สึกโล่งใจ Im free ที่ได้เป็นอิสระ จากนี้ไปตนก็จะดำเนินการในส่วนของตนแบบ My Way

เมื่อถามว่าจะฝากสิ่งใดถึงผู้พิพากษาที่มีสิทธิลงมติในครั้งนี้หรือไม่ นายชำนาญ กล่าวว่า ไม่มีอะไร ที่ผ่านมาสำหรับตน ความปลอดภัยคดีของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยตนเห็นว่าสิ่งสำคัญของผู้พิพากษาคือต้องให้ความเป็นธรรม และสิ่งที่สำคัญของประชาชนคือต้องได้รับความเป็นธรรม

โดยนายชำนาญ ระบุตอนท้ายด้วยว่า เมื่อเกิดมาเรียนกฎหมายแล้วมาเป็นผู้พิพากษาแล้วไม่ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ก็ไม่รู้ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะเกิดมาทำไม อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาก็มีประชาชนส่งจดหมายมาให้กำลังใจตนอยู่เหมือนกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ศุกร์ 26 ตุลาคม 2561 ลงมติแล้ว! ถอด 'ชำนาญ รวิวรรณพงษ์' พ้นก.ต.ศาลยุติธรรมทันที