เช็คสุขภาพ 'ลงทุน' ช่วงหุ้นสวิงกับ 'กองทุนบัวหลวง'

เช็คสุขภาพ 'ลงทุน' ช่วงหุ้นสวิงกับ 'กองทุนบัวหลวง'

ท่ามกลางความผันผวนตลาดเงิน-ทุน 'กองทุนบัวหลวง' แนะธีมลงทุนปรับโหมด 'ช้า' ขอทำรีเทิร์นแบบ 'ชัวร์' เน้นถือระยะยาว พร้อมกระจายความเสี่ยงทั่วโลก ด้าน 'กูรู' มอง 'หุ้น' ยังเป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ความมั่งคั่งที่ดีสุด...!!

หากมองวงจรตลาดหุ้นทั่วโลกมีทั้ง 'ขาขึ้น-ขาลง' ทว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ภาวะของตลาดหุ้นเมืองไทยตกอยู่ในอาการ 'ผันผวนหนัก' และ 'ไม่มีความแน่นอน'  สะท้อนผ่านมุมมองความรู้สึกของเหล่านักลงทุนทีมีความกังวลใจ (แพลนนิก) ว่า 'ผลตอบแทนการลงทุน' อาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่วาดหวังไว้...!!  

สะท้อนผ่านกระแสเงินต่างชาติกำลังไหลออกจาก 'ตลาดเกิดใหม่' (Emerging markets) กลับสู่ 'ตลาดพัฒนาแล้ว' (Developed markets) โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้น โอกาสจะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องยากสำหรับตลาดพัฒนาแล้ว 

ดังนั้น ล่าสุดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) จัดงาน 'BUALUANG FUND INVESTMENT FORUM TOWARDS 2019' โดยจับมือกับ 6 พันธมิตรระดับโลก ประกอบด้วย Allianz Global Investors ,AXA Investment Managers ,Fidelity International ,Invesco Ltd ,Nomura Asset Management และ Wellington Management  เพื่อแนะนำนักลงทุนวางแผนการเงินรับมือกับทุกสถานการณ์...!! 

โดย 'พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด บอกว่า การลงทุนที่ดีในตลาดเงินตลาดทุนนั้น นักลงทุนควรลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าการปรับ 'ขึ้นหรือลง' ถือเป็นวงจรของตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่แล้ว แต่หากย้อนดูสถิติในอดีตพบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะเป็นขาขึ้นมากกว่าขาลง หรือเรียกว่า 'ตลาดกระทิง' (Bull Market) และ 'ตลาดหมี' (Bear market)  

ทั้งนี้ สำหรับภาวะตลาดหมีนั้น..! โดยปกติจะพบในระยะสั้นกว่าตลาดกระทิง บงชี้ผ่านเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (บจ.) มีการเติบโตที่ดี รวมทั้งผู้ประกอบการก็มีวิธีการปรับตัวและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าเพื่อมาตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น  

'เราคงหนีความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นไม่ได้  เพราะว่าระหว่างทางก็มีเหตุการณ์เข้ามากระทบ และอย่างที่ทราบว่าตลาดหุ้นเคลื่อนไหวตามวงจรทั้งขาขึ้นและลง ฉะนั้น นักลงทุนที่ดีควรที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง'  

หากย้อนดูสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าระหว่างทางมีเหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจ เช่น นับตั้งแต่เหตุการณ์ 'วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์' (Hamburger Crisis) เมื่อปี 2551 ขณะที่ในเมืองไทยมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ การชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ การชุมนุมทางการเมือง และจนมาถึงวิกฤติเศรษฐกิจสหภาพยุโรป  

ดังนั้น การลงทุนในระยะกลาง หรือ สั้น อาจจะมีมุมมองว่าตลาดหุ้นมีความผันผวนระดับสูง แต่หากมองการลงทุนในระยะยาว จะพบว่า 'ตลาดหุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่ตอบสนองและตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งได้ดีที่สุด เนื่องจากว่าเป็นการลงทุนแบบเป็นเจ้าของกิจการ...!!' พีรพงศ์ย้ำให้ฟังเช่นนั้น   

สำหรับกองทุนบัวหลวง มีมุมมองในช่วงตลาดหุ้นผันผวนว่า เป็นจังหวะเข้าไปศึกษาและค้นหาราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวว่าราคาต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงใช่ไหม ซึ่งช่วงเวลานั้นถือเป็นความสนุกของเรา

'ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงๆ เราชอบมากเพราะว่าเป็นโอกาสในการเข้าไปหาและซื้อของราคาถูก แต่ตลาดปรับขึ้นเราไม่ชอบเพราะเป้าหมายของเราคือการซื้อของราคาถูก'  

เมื่อสถานการณ์เป็นจริงเช่นนั้น นักลงทุนอาจต้อง 'ปรับพอร์ตฟอลิโอใหม่' เพราะเมื่อมีอะไรผิดไปจากที่คาดการณ์ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับมุมมองการลงทุนรอบใหม่ เพื่อสร้าง 'รีเทิร์น' ของตัวเองให้สูงสุด และเหมาะสมกับความต้องการ !!  

'พีร์ ยงวณิชย์' รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า สำหรับ 'การจัดสรรแบ่งเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ' หรือ Asset Allocation ของนักลงทุน หลักสำคัญต้องพิจารณาเงินที่ลงทุนมีวัตถุประสงค์อย่างไร จะได้สามารถเลือกองทุนนโยบายได้ถูกต้อง โดยหากต้องการลงทุนในระยะยาว การลงทุนตลาดทุนของนักลงทุนก็จะมีโอกาสได้รับ 'ผลตอบแทนสูง' แต่ 'ความเสี่ยงก็สูง' หรือ (High Risk High Return) แต่หากมีเป้าหมายการลงทุนแล้วในระหว่างทางตลาดผันผวนก็จะไม่ตกใจเนื่องจากเป็นเรื่องปกติของตลาดเงินตลาดทุน เพราะว่ามีปัจจัยหลายอย่างเข้ามากระทบตลอดเวลา   

อีกทั้งเรื่องอายุของผู้ลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้วย ซึ่งจะปรับความเสี่ยงตามอายุได้เหมาะสมรวมทั้งสถานะของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนไป อาทิ จากโสดมามีครอบครัวการลงทุนก็เปลี่ยนไป และควรจะมีการปรับพอร์ตหรือทบทวนทุก 6 เดือน ถึง 1 ปีอย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องปรับความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เหมะกับอายุของตัวเองด้วย เพราะว่าสภาวะของนักลงทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าลงทุนหุ้นก็ต้องถือยาว key จะต้อง Rebalanc ให้เหมาะ อย่างไรก็ให้ Stay Invested ต้องให้เงินทำงานให้เรา...เพื่อให้มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ 

'ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยก็ยังมีปัจจัยเรื่องการเลือกตั้งเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน แม้ว่าผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) เป็นสิ่งที่น่ากังวล และมีผลกระทบมากกว่าวิกฤติทางการเงิน เนื่องจากปัจจุบันการค้าเป็นตัวผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว'  

สำหรับ 'กลยุทธ์' การจัดพอร์ตลงทุนของกองทุนบัวหลวง สิ่งแรกที่คำนึงถึงคือ 1.ความต้องการของนักลงทุนก่อน เพื่อที่จะได้จัดพอร์ตให้เหมาะสม 2. กองทุนมีนโยบายพยายามจะจัดพอร์ตการลงทุนให้กระจายออกไปในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก และ 3. กระจายการลงทุนออกไปในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็น 'การลดความเสี่ยงจากความผันผวน ไม่ใช่เพิ่มผลตอบแทน' เพราะว่าผลตอบแทนของตลาดประเทศพัฒนาแล้วจะน้อยกว่าบ้านเรา 

ขณะที่ 'พีร์' วิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นจีนยังคงมี 'ความน่าสนใจ' แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจาก Trade War ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าจีนมีกระสุนเพียงพอต่อการรับมือ ขณะที่สัดส่วนการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ไม่ได้มาก ขณะที่ Allianz Global Investors ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน Allianz Global Investors ที่เน้นการลงทุนหุ้นจีนเป็นหลักนั้น มองประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐว่าไม่ใช่มีประเด็นการค้า แต่เชื่อว่าเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า เพราะสหรัฐเองส่วนใหญ่บริโภคจากภายในประเทศ และบริษัทแอปเปิล ที่มีการผลิตชิ้นส่วนของ iPhone จากจีนก็ไม่ได้ถูกเก็บภาษีแต่อย่างใด 

รวมทั้งมีมุมมองต่อ 'ตลาดภูมิภาคเอเชีย' เห็นว่าเป็นโอกาสลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะในจีน ที่เทคโนโลยีมีอัตราการเติบโตแบบรวดเร็วมาก มีการใช้เงินสดน้อยมาก ขณะที่ตลาด Emerging Market มอง 12 เดือนข้างหน้ายังมีแนวโน้มค่อนข้างดี 

ปีหน้าหุ้นไทย 1,800 จุด  

'พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กองทุนรวมบัวหลวง มีมุมมองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2562 ว่า ดัชนี SET INDEX น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปแตะ 1,800 จุด บน PE ที่ 15 เท่า และกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตเฉลี่ย 10% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ EPS เติบโตในระดับ 10% โดยบางกลุ่มที่เติบโตมากกว่า 15-20% ได้แก่ 'กลุ่มโรงพยาบาล' ขณะนี้ราคาหุ้นปรับตัวลงเหมาะสมในการเข้าลงทุน 

นอกจากนี้มี 'กลุ่มโลจิสติกส์ หรือ ขนส่ง' และ 'กลุ่ม Commerce' (ค้าปลีก) ที่มีแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่ทำให้การบริโภคในประเทศ รวมทั้ง 'กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง' ได้รับปัจจัยบวกต่อการรับงานภาครัฐลงทุนโครงการเมกะโปรเจค เช่น รถไฟฟ้า , มอร์เตอร์เวย์ ,รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น 

สอดคล้องกับมุมมองของ 'กองทุนการเงินระหว่างประเทศ' (IMF) ที่มีมุมมองเป็นบวกกับเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ดีขึ้น IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 สวนทางประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่ถูกปรับคาดการณ์ลง เพราะไทยมีการเดินหน้าลงทุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้รับ sentiment จากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าด้วย

ส่วนบรรยากาศลงทุนในช่วงที่เหลือในปีนี้ 'พีรพงศ์' บอกว่า ระยะสั้นยังคาดการณ์ยาก เพราะตลาดมีความผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดก็รับรู้ปัจจัยลบไปค่อนข้างมาก แนะนำถือลงทุนระยะยาวเหมือนวิ่งมาราธอน ซึ่งเป็นการวิ่งในระยะไกลที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ความอดทน และความแข็งแกร่งของร่างกายเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย 

'ตลาดรับรู้ข่าวแย่ลบมาเป็นระยะๆ แล้ว จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยปลายปีนี้ในระยะสั้นยังมีความผันผวนสูงอยู่ แต่ในระยะถัดไป เราจะมีเลือกตั้งในต้นปีหน้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นก็ฟื้นกลับมา รวมทั้งมีการลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชนกลับมาด้วย เชื่อว่าทำให้การอุปโภค-บริโภคบ้านเราเติบโต'

โดย การลงทุนก็เช่นกันที่จะต้องอาศัยวินัย ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญต้องให้เวลากับการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในระยะยาวตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย ไม่ใช่แค่การเก็งกำไรระยะสั้นๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีวัฏจักรเป็นขาขึ้นหรือขาลง แต่หากนักลงทุนสามารถทำความเข้าใจปัจจัยแวดล้อมได้ก็จะสามารถจัดพอร์ตการลงทุนได้อย่างชาญฉลาดรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ ซึ่งจะทำให้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ 

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องของสงครามการค้า (Trade war) กองทุนบัวหลวง มีมุมมองตลาดหุ้นจีน 'น่าสนใจ' เชื่อว่าจะมีกระทบจาก Trade war ไม่มาก ชี้น่าจะเป็นแค่ประเด็นการเมืองมากกว่า ขณะเดียวกันแนะนักลงทุนหมั่นปรับพอร์ตให้ทันสถานการณ์และช่วงอายุให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุน

ยกเลิก LTF กระทบตลาดหุ้น 

'วรวรรณ ธาราภูมิ' ประธานกรรมการบริหาร กองทุนบัวหลวง และ ประธานกิติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงการคลังจะไม่ต่ออายุการให้สิทธิทางภาษีกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) หลังสิ้นสุดกำหนดในปี 2562 นั้น สภาตลาดธุรกิจทุนไทย (FETCO) เตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังขยายเวลาการให้สิทธิทางภาษีกองทุน LTF ต่อไป แต่ให้ลดวงเงินที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีลงเหลือประมาณ 1 แสนบาท จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 5 แสนบาท หรือเรียกว่า 'กองทุน LTF ธงฟ้า'

ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะมีต่อตลาดหุ้นไทยอย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัวมองว่า กองทุน LTF เป็นการออมเงินของชนชั้นกลางที่ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ขณะที่ผู้มีรายได้สูงมีจำนวนไม่มากเพียงประมาณ 2 หมื่นราย จากจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยกองทุน LTF มีทั้งหมด 1.19 ล้านบัญชี และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ก.ย.61)

ทั้งนี้ วิเคราะห์ว่า ภาพตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงท้ายของตลาดขาขึ้นในปี 2563 บ่งชี้ผ่านเม็ดเงิน QE ในตลาดจะลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ฉะนั้น หากไม่มีการต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF จะทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะว่าในปี 63 จะมีกองทุน LTF ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 'แสนล้านบาท' และปีถัดไปอีกแสนล้านบาท แต่หากยังมีเม็ดเงินจากกองทุน LTF ก็จะช่วยลดผลกระทบตลาดหุ้นจากเงินไหลออกได้บ้าง

ดังนั้น โดยส่วนตัวอยากจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF ในรูปแบบการทยอยปรับลดลง โดยปีแรกอาจจะลดจาก 5 แสนบาท เหลือ 4 แสนบาท และปีถัดไปลดเหลือ 3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี มองว่ากองทุน LTF ก็ยังจำเป็นต้องคงอยู่ในตลาดต่อไป

'คิดว่า LTF ธงฟ้าไม่ได้ช่วยตลาดมากมายนัก LTF เป็นของคนชนชั้นกลางมากกว่า แต่ตลาดจะรับเงินทุนไหลออกได้ยังไง ปี 63 เป็นปีที่จะต้องระมัดระวัง อยู่ในช่วง late cycle Bull market...ถ้าเขาต้องการบรรเทาผลกระทบ สิ่งที่ทำได้คุณเปิดให้ใช้สิทธิต่อไปจากที่เคยให้ 5 แสนบาทต่อปี ก็ให้ไปหักลดหย่อนเหลือ 4 แสนบาทต่อปี เพื่อบรรเทาผลกระทบ หรือมีกองทุน LTF ธงฟ้า ก็ไม่ต้องตั้งกองใหม่ ส่วนใหญ่มนุษย์เงินเดือนลงทุน LTF เป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง'

อนึ่ง สำหรับสภาตลาดธุรกิจทุนไทย ปัจจุบันมีสมาชิก 7 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย , สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย , สมาคมบริษัทจัดการลงทุน , สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน , สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย , สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)