อย.จับมือภาคีเครือข่าย จัดการปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมหลอกลวงรักษาโรคตา

อย.จับมือภาคีเครือข่าย จัดการปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมหลอกลวงรักษาโรคตา

อย.จับมือภาคีเครือข่าย จัดการปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลอกลวงรักษาโรคตา

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อ เช่น ดีคอนแทค, ลูทินาร์, เคลียร์วิส, ลูติน่า, ลูทีน, ดิ-ทีน่า, SAITA และ WIR อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่าง ๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก ,ต้อหิน ,ต้อเนื้อ วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ซึ่ง อย. ได้แจ้งระงับการโฆษณาและดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวแล้วนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างครบวงจร จึงได้มีการประชุมหารือกันระหว่างหน่วยงานเพื่อร่วมจัดการปัญหาการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กล่าวอ้างว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งในส่วนของ อย. จะมีมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติอาหาร ข้อหาโฆษณาหลอกลวงและโฆษณาเป็นเท็จ นำไปสู่การเพิกถอนเลขสารบบอาหาร พร้อมออกหนังสือระงับการผลิต นำเข้า จำหน่าย ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายทั้งทางอาญาและปกครอง เพื่อให้ผู้ทำผิดได้รับโทษสูงขึ้น ด้านองค์กรวิชาการและวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทยสภา พร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งช่วยสอดส่องผลิตภัณฑ์ที่ ต้องสงสัย เพื่อให้การดำเนินการครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่

ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) จะร่วมพิจารณาการดำเนินการตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อระงับการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทั้งหมด ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ทางด้านสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้ร่วมกับ อย. กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากจะต้องขอเลขสารบบอาหาร หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่า เลข อย. ของตัวผลิตภัณฑ์แล้ว หากประสงค์จะโฆษณาจะต้องขออนุญาตโฆษณาด้วย ซึ่ง อย.ไม่อนุญาตให้โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างรักษาโรคตาทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวใด มีสรรพคุณรักษาโรคหรือ  ความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากรู้สึกร่างกายผิดปกติ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง หากพบการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร  โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ