เชฟเบอร์หนึ่งWhite Elephant พูดได้ 4 ภาษาทั้งที่ไร้ใบปริญญา

เชฟเบอร์หนึ่งWhite Elephant พูดได้ 4 ภาษาทั้งที่ไร้ใบปริญญา

เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน:เชฟเบอร์หนึ่งWhite Elephant พูดได้ 4 ภาษาทั้งที่ไร้ใบปริญญา

“ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ใช่การนำไปประกาศนียบัตรไปสมัคงาน หากแต่การยืนได้ด้วยความสามารถของตัวเองต่างหาก คือ ความสำเร็จในชีวิตของคนเราที่แท้จริง ”


ชีวิต เลือกเกิดไม่ได้ และเลือกเรียนก็ไม่ได้ สำหรับผู้ที่มีฐานะยากจน การต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด กระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งๆที่ไร้ซึ่งใบปริญญาที่ตัวเองใฝ่ฝันจากเชฟสมัครเล่นเป็นเชฟมืออาชีพ และเป็นเบอร์หนึ่งของร้านอาหารชื่อดังในอียิปต์เขตเมืองทะเลแดงที่ร้าน White Elephant ในโรงแรม Lahami bay beach resort & gardens เมืองมัรซาอะลาม เป็นเชฟหนุ่มที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสามารถด้านการสื่อสารได้ 4 ภาษาอย่างคล่องแคล่ว


“ตุรมีซี อุมาร์” เป็นคนจังหวัดปัตตานี เป็นบุตรคนโตในพี่น้อง 7 คนของครอบครัว อามะ และแจะเยาห์ อุมาร์ มีอาชีพค้าขาย จบการศึกษาด้านศาสนาและสามัญที่โรงเรียนบำรุงอิสลาม ปัตตานี ไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรประเทศอียิปต์ เมื่อปี 2005 ซึ่งในตอนนั้นเข้าเรียนพิเศษกับสถาบันสอนคอมพิวเตอร์และภาษาอาหรับเป็นหลัก ทำงานพิเศษเป็นเชฟในร้านอาหารคนไทยในไคโร มีรายได้พอช่วยเหลือตัวเองโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน แต่แล้วปี 2008 ต้องกลับไทยกระทันหันเนื่องจากพ่อเสียชีวิต ทั้งที่เรียนยังไม่จบ


ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโตหน้าที่ทุกอย่างจึงตกหนักที่เขา หลังพ่อเสียชีวิต มีน้องๆอายุไล่เลี่ยกันอีกหลายคน ที่ต้องส่งเสียให้เรียน


“ตุรมีซี” จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ไปทำงานที่ มาเลยเซีย เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวแทนโดยการสมัครเป็นเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง

เชฟเบอร์หนึ่งWhite Elephant พูดได้ 4 ภาษาทั้งที่ไร้ใบปริญญา
หลังจากทำอยู่ประมาณ 10 ปีเต็ม “ตุรมีซี” กลับไปที่อียิปต์อีกครั้ง ไปฝึกฝนการเป็นเชฟมืออาชีพในระดับโรงแรม จากเจ้าของร้านไทยในเมืองเฮอร์กาด้า วิภา สมศรีและเถ้าแก่อัมร์ สาวไทยและหนุ่มอียิปต์ เจ้าของร้านอาหารไทยในเมืองเฮอร์กาด้าและเอลกูน่า จากเชฟนักศึกษาบ้านๆ สู่การเป็นเชฟมืออาชีพ และเป็นที่ไว้ใจของเจ้าของร้านเป็นอย่างมาก


ด้วยบุคลิกภาพที่สุภาพ นุ่มนวล อัธยาศัยดีกับผู้ร่วมงานและแขกทุกคนที่มาใช้บริการ โดยเฉพาะความสามารถพิเศษในด้านภาษา ที่สามารถพูดอ่านเขียนได้ถึง 4 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษามาลายู ภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ เป็นทั้งเชฟในครัว พร้อมทั้งเป็นวิทยากรพิเศษสาธิตการทำอาหารไทยในโครงการโปรโมตอาหารไทย ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร
คนที่มีโอกาสได้ไปชมการงานสาธิตอาหารไทย ที่เมืองเฮอร์กาด้า ต่างพูดถึงความสามารถทางด้านการนำเสนออาหารไทย และการผลิตอาหารไทย ของเขาอย่างชื่นชม ทั้งๆที่เรียนไม่จบปริญญา ทว่าเลี้ยงชีพได้พร้อมทำชื่อเสียงให้กับประเทศอีกต่างหาก สิ่งนี้คือ สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตแล้ว


ตุรมีซี เล่าว่า ในช่วงปีแรกที่เข้ามายังประเทศอียิปต์ จะพยายามอยู่กับเพื่อนต่างชาติ และสื่อสารภาษาอาหรับทุกวัน ทั้งในห้องเรียนและคนทั่วไปตามท้องถนนที่พบเจอ การสื่อสารกับชาวอาหรับยิ่งทำให้มองโลกกว้างขึ้น มองอนาคตได้ชัดเจน เขา จึงเน้นเรื่องภาษามาโดยตลอดโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาโลกที่ใช้สื่อสารกัน ในอนาคตเขาอยากมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง เป็นร้านอาหารแบบอินเตอร์ ที่มีอาหารหลากชายชนิดทั่วโลกให้บริการแก่ลูกค้าทุกเชื้อชาติ


"เปิดโลกของการเรียนรู้ให้กว้าง ตั้งใจเรียนให้เต็มที่ เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แม้จะมีเงินทองก็ควรจะมีการฝึกฝนช่วยเหลือตัวเองในสิ่งที่ตัวเองถนัด เพื่อสร้างฐานชีวิตในสิ่งที่ตัวเองชอบในอนาคต อย่ารอแค่การจบการศึกษาเพื่อไปสอนศาสนาเพียงด้านเดียว ทั้งๆที่มีความสามารถอื่นๆอีกหลายด้าน ที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ใช่การนำไปประกาศนียบัตรไปสมัคงาน หากแต่การยืนได้ด้วยความสามารถของตัวเองต่างหาก คือ ความสำเร็จในชีวิตคนเรา" เชฟเบอร์หนึ่งWhite Elephant กล่าวทิ้งท้าย