ค้นพบหอยทากไทย126ชนิด! คัด5สายพันธ์พัฒนาสู่อุตสาหกรรมความงาม

ค้นพบหอยทากไทย126ชนิด! คัด5สายพันธ์พัฒนาสู่อุตสาหกรรมความงาม

จุฬาฯ เสนอผลงานวิจัยการค้นพบหอยทากไทย 126 ชนิดใหม่ของโลก จากกว่า 600 ชนิดในประเทศไทย พร้อมเปิดตัวสารานุกรม"หอยทากบก" เล่มแรก เดินหน้าจดสิทธิบัตรจากการวิจัยและพัฒนาเมือกหอยทาก สู่อุตสาหกรรมความงาม

สำหรับการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสว.) ในปี 2538 ซึ่งถือเป็นทุนแรกที่สนับสนุนโครงการ "อนุกรมวิธานหอยทากบกในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง" เพื่อศึกษาชนิดพันธุ์ของหอยทากบกในระบบนิเวศต่างๆ เน้นบริเวณเขาหินปูน ก่อให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการเปิดการวิจัยครั้งแรกในระดับนานาชาติ และผลิตดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิตคุณภาพออกสู่ตลาด

ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทมาติกส์ของสัตว์ เผยว่า การวิจัยซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกหอยทากบกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หอยต้นไม้ หอยพื้นดิน และหอยทากจิ๋ว มีการยืนยันสปีชีส์ที่ค้นพบแล้วกว่า 580 ชนิด เป็นชนิดใหม่ 126 ชนิด 5 สกุลใหม่ และ 1 วงศ์ใหม่ แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ หอยทากสวยงามหรือหอยต้นไม้ 10 ชนิด หอยทากจิ๋ว 85 ชนิด และหอยทากบกพื้นดิน 30 ชนิด รวมถึงหอยลดเปลือก และหอยทากไร้เปลือก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทในห่วงโซ่อาหาร และการถ่ายทอดพลังงาน ตลอดจนเป็นตัวกลางสู่วิวัฒนาการของสัตว์ในระบบนิเวศอีกด้วย

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าว นำไปสู่การจัดทำสารานุกรม "หอยทากบก ทรัพยากรชีวภาพที่ทรงคุณค่าแห่งราชอาณาจักรไทย" รวบรวมความรู้ในด้านทรัพยากรหอบบกของไทย และผลงานตีพิมพ์โดยคณะทำงานทั้งหมดกว่า 100 เรื่อง และบทความที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 เรื่อง พร้อมตัวอย่างภาพ คำบรรยายลักษณะประจำวงศ์ และสกุลเด่นๆ ของหอยทากที่พบมากในประเทศไทย เผยแพร่ความรู้และเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับคนไทยทั้งระดับเยาวชน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีการจัดทำเป็นภาษาอังกฤษต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี ทัศนาขจร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงการวิจัยและพัฒนา ค้นพบสาร "Aromantin" ซึ่งได้ทำการยื่นจดสิทธิบัตร ภายใต้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และสำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สสว.) ว่า

"การวิจัยครั้งนี้ ได้คัดหอยทากกว่า 10 สายพันธุ์ ซึ่งเบื้องต้น ได้ทำการสกัดมาแล้ว 5 สายพันธุ์ ได้แก่ หอยทากนวล หอยทากสยาม หอยทากขัดเปลือก หอยทากลดเปลือก หอยทากไร้เปลือก รวมไปถึงหอยทากแอฟริกัน ผ่านสกัดด้วยวิธีการที่นุ่มนวล ให้ได้เฉพาะเมือกจากส่วนที่ดีที่สุดอย่าง "แมนเทิล" นำมาผ่านกระบวนการกรองให้ได้โมเลกุลขนาดเล็กที่สุด นำไปทดสอบฤทธิ์และควบคุมประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาสู่ธุรกิจความงามในอนาคต"

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปในการวิจัยดังกล่าว จะนำไปสู่การวิจัยเพื่อลงลึกมากขึ้น เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมความงาม และผลิตสินค้าต่างๆ ในนาคต นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การร่วมมือในภาคเอกชน ทำให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจแก่ประเทศ และส่งเสริมให้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์สร้างชาติต่อไป