“มหาธีร์”หารือปัญหา4จว.ชายแดนใต้“ประยุทธ์”

“มหาธีร์”หารือปัญหา4จว.ชายแดนใต้“ประยุทธ์”

หลังโฆษกกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็น เตือนรัฐบาลไทยเร่งผลักดันการเจรจาสถานการณ์ชายแดนใต้กับกลุ่มบีอาร์เอ็นแทนที่จะเป็นกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้มีบทบาทในพื้นที่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา ให้การต้อนรับ มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยผู้นำทั้ง 2 ได้ร่วมตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ (24ต.ค.)

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย พบปะหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีไทย เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในภาคใต้ และมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลไทยเพิ่งมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากพล.อ.อักษรา เกิดผล เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่4 ให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯคนใหม่ 

ขณะเดียวกัน นายมหาธีร์ ได้แต่งตั้งนายตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี แทนดาโต๊ะ ซัมซามิน คนเก่าเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังคาดว่านอกจากประเด็นความมั่นคงไทยกับมาเลเซีย กรณีสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และนายกฯมาเลเซียจะหารือกันในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมระหว่างกันด้วย

เมื่อสองวันก่อน นายอับดุล การิม คาลิด โฆษกกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็น ซึ่งประกาศตัวเป็นผู้เคลื่อนไหวก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ให้สัมภาษณ์แก่นายแอนโทนี เดวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชีย เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือเป็นการพูดคุยผ่านตัวแทนบีอาร์เอ็นอีกรายหนึ่ง ที่พูดภาษาอังกฤษ และมีการนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เอเชียไทม์ส เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.) โดยมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไทยมีคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขแทน พล.อ.อักษรา เกิดผล

โฆษกกลุ่มบีอาร์เอ็น เตือนให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนแนวทางการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขรอบใหม่ หลังจากทั้งทางการไทยและมาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้มีบทบาทนำในการพูดคุยในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน ถ้าหากรัฐบาลไทยต้องการให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุขที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 มีโอกาสดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายชัดเจน ก็ควรจะต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นอย่างจริงจัง

เนื่องจากบีอาร์เอ็น ไม่เข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุข ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รวมตัวกันในนามเครือข่าย ‘มาราปาตานี’ เพราะไม่เชื่อมั่นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา