TIGER ขยับชกข้ามรุ่น มูฟท้าชนงานระดับ 'พันล้าน'

TIGER ขยับชกข้ามรุ่น มูฟท้าชนงานระดับ 'พันล้าน'

'ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง' ขยับสเต็ปครั้งใหม่ ท้าชนงานมูลค่าหลัก 'พันล้าน' เกาะเทรนด์โครงการรัฐ-เอกชนฟื้นตัว 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ เข้าซื้อขาย 24 ต.ค. นี้ 'จตุรงค์ ศรีกุลเรืองโรจน์' ผู้ก่อตั้ง เชื่อเม็ดเงินระดมทุนช่วยปลดล็อกธุรกิจ !!

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการลงทุนโครงขนาดใหญ่ รวมทั้งภาคเอกชนส่งสัญญาณกลับมาลงทุนอีกครั้ง ความโดดเด่นดังกล่าวกำลังส่งผล 'บวก' ต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)  จำนวน 122.28 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 24 ต.ค.นี้  ในราคาหุ้นละ 3.65 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5.00 บาท คิดเป็นเงินระดมทุน 446.32 ล้านบาท  

'จตุรงค์ ศรีกุลเรืองโรจน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER) ผู้ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า TIGER ปัจจุบันลงทุนใน 3 ธุรกิจ ด้วยการถือหุ้น 99.99% ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทย อิงเกอร์ จำกัด (TEC) ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาทุกประเภท รวมทั้งงานออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม (Construction Contractor–Build & Design) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 90-95%  

โดย TEC มีรายได้จาก 4 งานคือ งานให้บริการรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงแรม รีสอร์ท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโครงการโรงแรมหรือรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเล คิดเป็นสัดส่วน 20-25% งานให้บริการรับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงาน และอาคารอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล รวมทั้งอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียมแนวราบ เซอร์วิสอพาร์เมนท์ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 20-25% 

งานให้บริการรับเหมาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค และกลุ่มงานภาครัฐ โดยให้บริการรับเหมางานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ฝ่ายเก็บน้ำ สถานีผลิตน้ำประปา คิดเป็นสัดส่วน 40-50% และ งานให้บริการรับเหมาก่อสร้างโครงการและงานอื่นๆ อาทิ บ้านเดี่ยวราคาสูง (High-end Home) ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมทั้งให้บริการงานระบบภายในตัวอาคาร เช่น งานระบบปรับอากาศ คิดเป็นสัดส่วน 5% 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องจากงานก่อสร้างจากงานก่อสร้างของลูกค้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องกำเนิดไฟ เป็นต้น 

2.บริษัท ทีอีจี อลูมินั่ม จำกัด หรือ TEA ธุรกิจออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งอุปกรณ์จากกระจกและอลูมิเนียม สำหรับงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน TEA มีแผนการขยายธุรกิจเพื่อรองรับลูกค้าภายนอกเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลังจากโรงงานเปิดซึ่งมีกำลังผลิตเพียงพอกับจำหน่ายมากขึ้น  

'สินค้าในกลุ่มนี้มีความต้องการเยอะมาก แต่ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ยังถือว่าน้อยอยู่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็ได้มีการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตให้กับภาพรวมบริษัทในอนาคต'

และ 3.บริษัท ทีอี แมค จำกัด หรือ TEM ประกอบธุรกิจออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งระบบน้ำดีและน้ำเสีย รวมทั้งจัดหาและจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างอื่นๆ โดยสืบเนื่องจาก ในปัจจุบันรายได้ส่วนหนึ่งของ TEC มาจากการจัดหาและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างให้แก่ลูกค้าของ TEC โดยในอนาคต TEM จะเข้ามาต่อยอดและขยายธุรกิจการจัดหาและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้เติบโตขึ้น และเป็นอีกช่องทางการสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท โดยทั้งสองธุรกิจคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 5-10%  

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ เขายอมรับว่า เมื่อต้องการ 'ปลดล็อก' การเติบโตของธุรกิจ ต้องมีเงินลงทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ เป้าหมายของการเข้ามาระดมทุนครั้งนี้ คือ การนำเงินไปรองรับแผนขยายธุรกิจเพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐ ยิ่งเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2561-2565) เติบโตแบบก้าวกระโดด หากย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่า 'ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง' ของเมืองไทยซบเซา บ่งชี้ผ่านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เปิดโครงการน้อยลง แต่ว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากในส่วนของ 'ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท' มีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตามทิศทาง 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยว' เมืองไทยเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

จากตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) มีรายได้อยู่ที่ 365.18 ล้านบาท 489.87 ล้านบาท และ 614.85 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 9.29 ล้านบาท 36.65 ล้านบาท และ 67.74 ล้านบาท ล่าสุด 6 เดือนแรกปี 2561 มีรายได้ 353.42  ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 31.30 ล้านบาท  

'ผู้ก่อตั้ง TIGER' บอกต่อว่า หลังจากบริษัทมีเงินระดมทุนจะช่วยให้มีศักยภาพในการรับงานขนาดใหญ่สูงสุด 'ระดับพันล้าน' ภายในปี 2561 จากช่วงก่อนเข้าตลาดที่รับงานได้ระดับ 600-700 ล้านบาท โดยเฉพาะงานภาครัฐบริษัทจะพิจารณารับงานโดยตรงจากทางราชการ ซึ่งจะดำเนินการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางราชการเอง

จากอดีตที่ผ่านมาบริษัทรับงานรัฐผ่านการรับเหมาช่วง (Sub-contract) ต่อจากผู้รับเหมาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงเดือนต.ค. ของทุกปี บริษัทเข้าไปรับงานโครงการภาครัฐที่มีปริมาณของงานที่เปิดประมูลออกมามากในอนาคต เนื่องจากเป็นช่วงเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะเริ่มมีการทยอยเปิดการประมูลโครงการลงทุนภาครัฐต่างๆ ออกมามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานที่ได้ยื่นประมูลไป 'ราว 4,000-6,000 พันล้านบาท' คิดเป็นสัดส่วนงานของภาครัฐราว 70-80% ซึ่งในเป้าหมายต้องการเห็นสัดส่วนรายได้ระหว่างงานรัฐและเอกชน 50:50 

ทั้งนี้ สำหรับงานภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของ 'การประปาภูมิภาค' (กปภ.) งบการลงทุนแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 'หมื่นล้านบาท' ซึ่งในส่วนของบริษัทคาดหวังจะได้งานแค่ 9-10%  และมีเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะเลื่อนชั้นสามารถเข้าประมูลงานตรงของรัฐได้ ซึ่งในเมืองไทยมีผู้รับเหมาไม่กี่รายที่มีคุณสมบัติเข้าประมูลงานของการประปาได้ โดยจะเริ่มจากงานที่มีขนาด 100 ล้านบาทเป็นต้นไป จากก่อนหน้านี้บริษัทรับงานต่อจากผู้รับเหมารายใหญ่เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ

'จาตุรงค์' บอกต่อว่า การที่บริษัทสามารถปลดล็อกข้อจำกัดด้านการรับงานให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้จะเป็น 'ปัจจัยบวก' สนับสนุนแนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะรักษาการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่าช่วงก่อนเข้าตลาดที่เติบโตเฉลี่ย 30-35% ต่อปี และการเน้นรับงานที่ให้มาร์จินสูงขึ้น 

ขณะที่บริษัทจะมีงานด้านการออกแบบและงานด้านระบบที่ช่วยเสริมงานก่อสร้าง เพื่อช่วยสร้างมาร์จินมากขึ้นและทำให้การรับงานสามารถทำงานได้ครบวงจรมากขึ้น และจะพยายามเพิ่มมูลค่างานในมือ (Backlog) เพื่อรองรับรายได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันบริษัทมี Backlog อยู่ที่ 600 ล้านบาทจะทยอยรับรู้รายได้ภายใน 3 เดือน

เขาบอกต่อว่า บริษัทมีอัตราการทำกำไรได้ค่อนข้างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และมีแผนจะรักษาระดับการทำกำไรให้มีเสถียรภาพต่อไป โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 16-22% และอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10% ด้วยการที่บริษัทจะเน้นการเข้ารับงานโครงการที่มีความซับซ้อนและมีงานระบบค่อนข้างมาก โดยบริษัทมีแหล่งซื้ออุปกรณ์และมีพันธมิตรหาอุปกรณ์ที่ให้ราคาต้นทุนที่ดี ช่วยผลักดันให้อัตรากำไรอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม TIGER ถือเป็นผู้ประกอบการที่มี 'จุดแข็ง' ในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานรับเหมาภาครัฐ งานยากๆ อย่างงานก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ทตามเกาะต่างๆ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าแบบปากต่อปาก และใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างโดดเด่น 

ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่จะผลักดันการเติบโตในช่วง 3-5 ปีจากนี้จะยังคงเน้นขยายทั้ง 4 กลุ่มรายได้หลัก เนื่องจากมองแนวโน้มที่ยังสามารถเติบโตไปได้ดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทที่เติบโตไปกับการท่องเที่ยวของไทยที่มีศักยภาพสูงและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมไปถึงสาธารณูปโภคและงานภาครัฐที่บริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอีก 2 ส่วนที่เหลือก็ยังมีการเติบโตได้ค่อนข้างดี

สำหรับภาพรวม 'ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง' เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง โดยการเข้ารับงานโครงการใหม่ๆ นั้น ผู้ว่าจ้างจะมีการกำหนดเกณฑ์ในการเข้ารับงาน คุณสมบัติผู้เข้ารับงาน ผลงานที่ผ่านมาของผู้เข้ารับงาน โดยหลังจากผ่านคุณสมบัติต่างๆ เบื้องต้นแล้ว ผู้ว่าจ้างจะมีการพิจารณาราคาประมูล ปัจจุบันมีผู้รับเหมาในตลาดอยู่เป็นจำนวนมากทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ เป็นผลให้ TEC ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง 

นอกจากนี้การแข่งขันที่รุนแรงอาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่อาจทำให้มีผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มบริษัท 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัท TEC  ยังมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันคือทีมผู้บริหารและทีมงานของ TEC มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันยาวนาน รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าที่มีมาโดยตลอดในการรับงานเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ TEC มีความเชี่ยวชาญในการรับงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภท ซึ่งได้แก่งานก่อสร้างโรงแรม โรงพยาบาล อาคารพักอาศัย สถานีผลิตน้ำประปาและท่อส่งน้ำ โครงการอู่รถเมล์ ลานจอดรด และฝายยาง เป็นต้น 

รวมไปถึงการขยายไปยังงานบริการที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการก่อสร้างที่ดำเนินการโดยบริษัทย่อยของ TEC เช่น TEA ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตอลูมิเนียมเพื่อการตกแต่ง และ TEM ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งระบบน้ำดีและน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีความต่อเนื่องของรายได้มากยิ่งขึ้น

ท้ายสุด 'จตุรงค์' ทิ้งท้ายไว้ว่า ที่ผ่านมาความสามารถในการรับงานของบริษัทไม่มากนัก เพราะติดเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่มีไม่เพียงพอ แต่หลังจากนี้เรื่องเงินทุนหมุนเวียนจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป