ซีซีทีวีเสริมเอไอ ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

ซีซีทีวีเสริมเอไอ ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ หนึ่งในเครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่ตลาดมีอนาคตสดใส อานิสงส์จากนโยบายการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ รองรับสังคมเมืองที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์หน่วยงานรัฐในระดับท้องถื่น

กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ หนึ่งในเครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่ตลาดมีอนาคตสดใส อานิสงส์จากนโยบายการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ ่รองรับสังคมเมืองในอนาคตที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ประชากรอยู่หนาแน่นขึ้น ขณะที่ตลาดหน่วยงานรัฐกระตุ้นให้เกิดการใช้งานเพิ่มโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น

ความอัจฉริยะของกล้องวงจรปิดเกิดจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอและอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลใช้กับการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อปกป้องและป้องกันทรัพย์สินผ่านฟังก์ชันการจดจำใบหน้า แล้วแจ้งเตือนหากใบหน้าคล้ายโจรที่บันทึกไว้ หรือระบบกล้องที่จะหันตามตัวบุคคลที่มีพิรุธเมื่อเดินไปยังจุดต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุ

สมาร์ทซิตี้หนุนกล้องวงจรปิดโต

ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ทิศทางการตลาดกล้องวงจรปิดจะเติบโตมากขึ้น ปัจจัยสำคัญหนึ่งเกิดจากนโยบายสมาร์ทซิตี้ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักเซฟซิตี้และซีเคียวซิตี้ อีกทั้งมีการคาดการณ์ถึง แนวโน้มประชากรจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุรวมถึงปัจจัยเรื่องการค้าระหว่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้

รายงานการสำรวจในไทยพบว่า วัยแรงงาน 6 คนจะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีกไม่กี่ปีจะเป็นคนวัยแรงงาน 3 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน หายไปครึ่งหนึ่ง จึงสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลความปลอดภัยในยุคที่แรงงานวัยหนุ่มสาวน้อยลงขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสังคมในอนาคต หนึ่งในนั้นคือ กล้องวงจรปิดที่มีความฉลาดมากขึ้นจากเทคโนโลยีเอไอและไอโอที

ปัจจุบันจำนวนการติดตั้งใช้กล้องวงจรปิดในไทยมีกว่า 3 แสนตัวทั่วประเทศ อายุการใช้งานเฉลี่ย 4-5 ปี ทำให้ต้องมีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกล้องใหม่ตามวงจรอายุ ส่งให้ตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดภาครัฐที่ปริมาณการใช้จำนวนมาก เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อยกระดับความปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ คาดว่า สัดส่วนผู้ใช้กล้องวงจรปิดในหน่วยงานภาครัฐ 70% ขณะที่ภาคเอกชน 30%

ข้อมูลของเมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต นิวเอร่า บิสซิเนส มีเดีย ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจรักษาความปลอดภัยในปีนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท และจะมีอัตราการเติบโต10-15% ต่อปี โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจากแนวโน้มและอัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นหนึ่งปัจจัยในการส่งเสริมและผลักดันตลาดรักษาความปลอดภัยของประเทศไทยให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

เร่งพัฒนาเทคโนโลยีตอบโจทย์

ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะนายกสมาคมระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย (ICA) กล่าวว่า ICA มีบทบาททางด้านการบูรณาการระบบกล้องวงจรปิดให้เป็นระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะเพื่อรองรับนโยบายเมืองอัจฉริยะของประเทศ รวบรวมสมาชิกและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา

ขณะนี้มีการรวมตัวของผู้ประกอบการกว่า 500 รายที่จะร่วมกันพัฒนากล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวี โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาผสมกับแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ทำงานได้หลากหลายขึ้น อาทิ การดูแลผู้สูงอายุ การจราจร ฯลฯ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาพและวีดิทัศน์ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและนำไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและพัฒนาการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัย ยกตัวอย่าง การทำงานของตำรวจได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยจดจำลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของมนุษย์และวัตถุต่างๆ ในการป้องกันความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ รวมถึงนำมาใช้ในการจัดการด้านจราจร โดยสามารถนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาวิเคราะห์เพื่อคำนวณจำนวนรถและความเร็วบนถนนได้แบบเรียลไทม์ สำหรับนำไปใช้ในการวางผังเมืองหรือการปรับเส้นทางการจราจรเพื่อแก้ปัญหารถติด เป็นต้น

ขณะเดียวกันในอนาคตอาจเห็นการใช้งานกล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ โดยกล้องจะสามารถจับภาพท่าทางและประมวลผล แจ้งไปยังครอบครัวหรือ โรงพยาบาล หรือการนำติดตั้งกับโดรน เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าขนาดเล็กและเบา หรือใช้ในการสำรวจและการเกษตร ถือเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเป็นเมืองอัจฉริยะและนโยบายไทยแลนด์ 4.0