'ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์' โปรดให้จัดประชุม ICCEOCA-13

'ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์' โปรดให้จัดประชุม ICCEOCA-13

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โปรดให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติทางด้านอินทรีย์เคมีขั้นสูงในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่13

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โปรดให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติทางด้านอินทรีย์เคมีขั้นสูงในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่13 The 13th International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia (ICCEOCA-13) ระหว่างวันที่ 1- 4 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ

ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย และเพื่อสนองพระราชปณิธาน และแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงทรงใช้เวลาตลอด 31 ปี นับตั้งแต่ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ในการแสวงหาความรู้ และความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังทรงคำนึงถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวม อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จึงทรงส่งเสริมให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นแกนนำความร่วมมือทั้งในรูปแบบของงานวิจัยร่วมการประชุมวิชาการ และการแลกเปลี่ยนนักวิจัย โดยได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักอินทรีย์เคมีในประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยมีสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นศูนย์กลาง (HUB) ภายในประเทศ โดยทรงเป็นหัวหน้าโครงการความร่วมมือทางวิชาการในสาขาวิชาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชีย (Asian Core Program (ACP) : Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2548 จากความร่วมมือของสถาบัน การศึกษาชั้นนำ 7 ประเทศ และ 1 เขตการปกครองพิเศษ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น

สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โครงการความร่วมมือทางวิชาการฯนี้ ได้จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่นของนักวิจัยในกลุ่มประเทศสมาชิก ทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดผลงานวิจัย ยกระดับคุณภาพงานวิจัยด้านอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชียให้ทัดเทียมกับภูมิภาคอื่น ๆ

สำหรับในปี พ.ศ. 2561 นี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โปรดให้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติทางด้านอินทรีย์เคมีขั้นสูงในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 13 (The 13th International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia) หรือ ICCEOCA-13 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างวันที่ 1 – 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้รับเกียรติจัดการประชุม ICCEOCA-4 มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2552 โดยการประชุมวิชาการฯ ICCEOCA ครั้งที่ 13 นี้ จะเป็นการรวมตัวของนักวิจัย คณาจารย์ที่มีผลงานวิจัยอันโดดเด่น และมีความเชี่ยวชาญด้านอินทรีย์เคมี และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 200 คน เข้าร่วมนำเสนอผลงานความ ก้าวหน้าทางการ

วิจัย วิทยาการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การมอบรางวัล Lectureship Awards แก่ผู้ที่นำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยม โดยนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนี้จะได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่ความ ก้าวหน้างานวิจัยของตนเอง อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยอภิปรายแลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทั้งการวิจัยและสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยและคณาจารย์ชั้นนำในกลุ่มประเทศสมาชิก ในขณะที่ประเทศไทยจะได้นำงานวิจัยที่ทำขึ้นภายในประเทศ ออกเผยแพร่ให้แก่นักวิชาการในต่างประเทศด้วย

จากพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย ในการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการในสาขาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชีย ดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการเติบโตของเครือข่ายวิจัยภายในประเทศ และโครงการนี้ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำคัญให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนักวิทยาศาสตร์ จากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย นำไปสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยจากเครือข่ายวิจัยของกลุ่มประเทศสมาชิกอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว นับว่าเป็นโอกาสอันดีของนักวิจัยไทยที่จะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางการวิจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เพื่อยกระดับการวิจัยให้มีความเข้มแข็ง และมีความก้าวหน้า ทัดเทียมประเทศอื่นๆ รวมไปถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย อีกด้วย