ลงทุนกลุ่มธนาคารอย่างไรดี

ลงทุนกลุ่มธนาคารอย่างไรดี

จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส

แนวโน้มกำไรใน 3Q18 ไม่ได้สดใสนัก เท่าที่ประกาศแล้ว 4 ธนาคารปรากฎว่ากำไรหลักจากการดำเนินงานไม่รวมกำไรพิเศษ (ของ TMB) ลดลง 3% Q-Q สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนจากผลกระทบของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนที่มีผลกระทบเพิ่มขึ้นจากการ Migrate ที่เพิ่มขึ้น และส่วนต่างดอกเบี้ยที่แคบลงเพราะแบงก์เริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อดึงลูกค้า แต่กำไรดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3% Y-Y เพราะการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง (คุณภาพหนี้ดีขึ้น) นักวิเคราะห์ของเราคาดว่าผลประกอบการของแบงก์อื่นก็น่าจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน แถมไตรมาสสุดท้ายของแบงก์มักเป็นไตรมาสที่กำไรน้อยที่สุดเพราะมักมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าพนักงาน ค่าการตลาด การด้อยค่าต่างๆ เช่นนี้แล้วหุ้นกลุ่มแบงก์จะน่าลงทุนอยู่หรือ

Theme การลงทุนคือวัฏจักรการลงทุนรอบใหญ่และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ภาพผลประกอบการที่ไม่สดใสใน 3Q18 และน่าจะต่อเนื่องใน 4Q18 ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ตลาดรับรู้ไปบ้างแล้ว สังเกตว่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ไม่ได้ถูกเก็งกำไรก่อนการประกาศงบการเงิน หลังรายงานงบฯแล้ว จึงไม่ได้ถูก Sell on fact เหมือนในอดีต (ยกเว้นปรับลงตามภาพตลาดโดยรวม) เราคิดว่าประเด็นการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ น่าจะมองข้ามผลประกอบการ ไปสู่อานิสงส์จากการเลือกตั้งซึ่งหมายถึงวัฏจักรการลงทุนขนาดใหญรอบใหม่ ตามสถิติ 4 ครั้งหลังสุดของการเลือกตั้ง กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งที่เราศึกษาจะมีการเติบโตของสินเชื่อก่อนการเลือกตั้งเฉลี่ยที่ 2% ต่อไตรมาส และเดือนที่มีการเลือกตั้งจะมีการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ 2.5% หลังจากนั้นแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. มีการจัดตั้งรัฐบาล สินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อไตรมาส และ 2. หากไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล (การเลือกตั้งเป็นโมฆะ) สินเชื่อจะชะลอลงเหลือเพียง 1% ต่อไตรมาส บนสมมติฐานการเลือกตั้งราบรื่นดีในปีหน้า เราคาดว่าความต้องการสินเชื่อจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ 4Q18 จากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากรวมกับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อตามฤดูกาลที่ดีอยู่แล้ว เราคาดว่าน่าจะเห็นการเติบโตของสินเชื่อใน 4Q18 ราว 4-5% (ปกติ 2-3%)

ประเด็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นย่อมเป็นบวกกับแบงก์ใหญ่เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (หัวใจในการสร้างกำไร) จะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแบงก์ที่มีฐานลูกค้าเงินกู้ขนาดใหญ่ มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 0.25% ในช่วงปลายปี และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีหน้า

แนะนำ KBANK และ BBL

ความชัดเจนของการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการกลับของสินเชื่อเพื่อการลงทุน (Long-term project loan) ทำให้เรามีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการสินเชื่อปีหน้าขึ้นเป็น 7-8% จากเดิมที่ 5.5% และปรับประมาณการเติบโตของกำไรปี 2019 ขึ้นเป็น 8% จากเดิมที่คาดเติบโต 5% ส่วนประมาณการปีนี้ เรายังคงเดิมทั้งสินเชื่อและกำไร (คาดกำไร +8%) ธนาคารขนาดใหญ่มีแนวโน้ม Re-rated Valuation ขึ้นตาม Sentiment เชิงบวกจากวัฏจักรเศรษฐกิจ Early-expansion phase เราจึงปรับให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Overweight แนะนำ KBANK (ราคาพื้นฐานปี 2018 ที่ 235 บาท) และ BBL (ราคาพื้นฐานปี 2018 ที่ 232 บาท)