วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 ต.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 ต.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบร่วงต่อ กังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนกระทบอุปสงค์น้ำมัน

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมากกว่า 1% หลังจากตลาดมีความกังวลต่อผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและกดดันอุปสงค์น้ำมันโลก

- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 และ 2562 ลงจาก 3.9% เป็น 3.7% เพื่อให้สะท้อนผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนและตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอาร์เจนตินา บราซิล ตุรกีและแอฟริกาใต้

- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง หลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์ ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากการที่โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง โดยโรงกลั่นหลายรายจะทำการปิดซ่อมบำรุงนาน 4 ถึง 6 สัปดาห์

-/+ ซาอุดิอาระเบียประกาศว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่ลดลงจากการประกาศใช้นโยบายคว่ำบาตรอิหร่านในเดือน พ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลว่ากำลังการผลิตที่ปรับเพิ่มนั้นจะเพียงพอที่จะทดแทนอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากอิหร่านได้หรือไม่

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากถูกกดดันโดยอุปทานจากอียิปต์ ประกอบกับสต๊อกน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานในทวีปเอเชียที่ไม่คุ้มค่าในการส่งออกไปยังฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่อยู่ในระดับดี โดยเฉพาะจากบังกลาเทศ

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 78-83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มจะตึงตัวมากขึ้น หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง
  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจโลกคาดจะเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยล่าสุด IEA ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในปีนี้และปีหน้าลงกว่า 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตในบริเวณอ่าวเม็กซิโกเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตแล้วบางส่วน

---------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999