ขอโทษ! สั่งสอบนักบินทีจี971ป่วนผดส. สหภาพฯชี้น่าอับอายชงสางปัญหา

ขอโทษ! สั่งสอบนักบินทีจี971ป่วนผดส. สหภาพฯชี้น่าอับอายชงสางปัญหา

การบินไทยสั่งสอบข้อเท็จจริง กรณีนักบินป่วน ทีจี 971 ซูริค - กรุงเทพฯ ดีเลย์ "สุเมธ" ลั่นขอโทษ เตรียมกำหนดมาตรการป้องกันเหตุซ้ำรอย ขณะที่สหภาพฯร้องฝ่ายบริหารชี้น่าอับอายเปลี่ยนระเบียบเอื้อนักบิน

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบินที่ ทีจี 971 เส้นทาง ซูริค - กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 และประเด็นดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปยังสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น ตนในฐานะผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวน พร้อมเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามระเบียบของบริษัทฯ รวมทั้งจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต

“ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ผมขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ทำให้ทุกท่านได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความล่าช้า และขอโทษท่านผู้โดยสารที่ได้ผลกระทบโดยตรงจากการย้ายที่นั่ง ผมขอน้อมรับผิดต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะนี้ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดมาตรการ เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต”

นายดำรงค์ ไวยคณี ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นในเที่ยวบินซูริค - กรุงเทพฯ เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับการบินไทย โดย สร.กบท.รวมทั้งพนักงานการบินไทยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และขอเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาออกกฎระเบียบสิทธิ์ของพนักงานใหม่ ซึ่งควรคำนึงถึงความเท่าเทียมกัน และสิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงรายได้บริษัทเป็นหลักก่อน

“ที่ผ่านมามีแต่กลุ่มนักบินที่ได้รับสิทธิ์พิเศษนั่งโดยสารในชั้นธุรกิจ เพราะอ้างว่าต้องพักผ่อนอย่างสะดวกสบาย เนื่องจากต้องทำการบินต่อ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นก็พอเข้าใจได้ว่านักบินไม่ได้ผิดที่จะใช้สิทธิ์ แต่ผิดที่กฎระเบียบบริษัทที่ระบุเอาไว้ให้สามารถใช้สิทธิพิเศษเหล่านั้นได้ ขาดการคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัท รายได้ที่จะเข้ามาเป็นที่ตั้งก่อน ตอนนี้ก็ทราบว่าฝ่ายบริหารกำลังเตรียมสอบสวนและหารือร่วมกับนักบิน จึงอยากให้ออกเป็นกฎใหม่ พนักงานการบินไทยทุกคนควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน และต้องคำนึงหารายได้บริษัทมาก่อนการใช้สิทธิ์”