ทำสิ่งที่อยากทำ ก่อนมะเร็งจะพรากชี่วิต

ทำสิ่งที่อยากทำ ก่อนมะเร็งจะพรากชี่วิต

อดีตพยาบาลคนนี้เป็นมะเร็ง และยังทำงานช่วยคนป่วยยากไร้ที่เป็นมะเร็งที่บ้านปันรัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

หากใครเข้าใจว่า คนเป็นมะเร็ง ทำงานไม่ได้แล้ว คงต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะไม่ได้เป็นเช่นนั้นทุกคน อย่าง ดร.กมลพร สกุลพงศ์ อดีตอาจารย์พยาบาล ข้าราชการเกษียณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เป็นมะเร็งกว่า 15 ปี และเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตั้งบ้านปันรัก ดูแลผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันยังทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

“อยากบอกว่า เป็นมะเร็เรง ไม่ได้หมายความว่า จะทำอะไรไม่ได้ เคยมีคนไข้ถามว่า อาจารย์ป่วยจริงหรือเปล่า เพราะเห็นว่า เราทำงานไม่หยุด ยิ่งทำงาน ยิ่งมีพลัง เรารู้ว่า เวลาของเราน้อยลงทุกที เราต้องดูแลทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เกือบทุกเรื่องในบ้านปันรัก“ เธอเล่า ในงานเสวนาหัวข้อ “เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค เปลี่ยนโลกให้เป็นครู” ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) 

เธอเป็นเพื่อนกับมะเร็งมานาน จนเขียนเป็นหนังสือ มะเร็งเพื่อนฉัน และตระหนักเสมอว่า ชีวิตนี้คงอยู่กับมะเร็งจนสิ้นลม       

“ตอนเริ่มเป็นมะเร็งคิดว่าเป็นพยาบาล ไม่น่าเป็นมะเร็งระยะ 3 ช่วงที่หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง เหมือนโลกทั้งใบถล่มทลาย ตอนนั้นไ่ม่อยากให้แม่รู้ พ่อเพิ่งเสียไปด้วยมะเร็ง” เธอเล่าถึงครั้งแรกที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ จนกระจายไปถึงต่อมน้ำเหลือง และตอนนั้นเธอก็ไม่ต่างจากหลายคนคือ อยากตาย หมดหวัง คิดไปไกล ทั้งๆ ที่ยังไม่เริ่มรักษา

"คิดไปถึงตอนอยู่บนเชิงตะกอนเรียบร้อยแล้ว เรารู้เลยว่า การรักษาโรคมะเร็งทรมานมาก สมัยนั้นยาไม่ดีเหมือนสมัยนี้  พอเริ่มให้ยา เพื่อนๆ ที่ให้ยาเคมีชุดเดียวกัน ค่อยๆ หายไปทีละคน เพราะทนอาเจียนไม่ไหว พอเราได้ยาเข็มสุดท้าย พยาบาลบอกว่า รบชนะแล้ว อ้วกจนคราง ชนิดที่ว่าต้องแปรงฟันทีละครึ่งปาก” เธอเล่า และบอกว่า ไม่มีใครอยากตาย และอาจารย์ที่รักใคร่กัน เตือนว่า ยังไม่สุดท้ายหรอก ยังมีความหวัง แต่เราต้องรู้เท่าทันโรค

 “เมื่อมาถึงจุดนั้น ต้องรู้เท่าทัน อ้วกก็คืออ้วก เดี๋ยวค่อยกินใหม่ เราเป็นมะเร็งตั้งแต่ปี 2542 รักษาด้วยเคมี ฉายแสง ก็แล้ว พอขึ้นปีที่ 5 ตอนนั้นกลับไปเรียนปริญญาเอก ความอยากนั่นแหละทำให้เครียด หลังจากรับปริญญา ก็เป็นมะเร็งรอบ 2 ที่ปอด พอรักษาจบคอร์ส ก็เข้าใจว่า เราเอาชีวิตไปฝากไว้กับหมออย่างเดียวไม่ได้ และถ้ายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอีกครั้ง”

เธอเล่าถึงตอนทำงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า มีโอกาสเดินทางไปไต้หวัน ตั้งใจว่าจะรักษาศีลและล้างพิษ ตามหลักแพทย์แผนจีน จนมีโอกาสเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวัน

“ทำงานช่วยคนอื่น มีความสุขจนลืมป่วย จนกลับมาเมืองไทย  ตอนนั้นทำเรื่องกองทุนสุขภาพตำบลที่สุราษฎร์ธานี เราพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งที่นอนรอความตายเยอะมาก เพราะไม่มีเงินไปโรงพยาบาล แม้จะมีบัตรทองรักษาฟรี แต่ค่าเดินทางค่าอาหาร เพื่อมาโรงพยาบาลใช้จ่ายเยอะมาก เราอยากช่วยพวกเขา เพราะค่าเช่าบ้านข้างโรงพยาบาลแพงมาก ก็คิดว่า ทำบ้านพักให้ผู้ป่วยรอไปฉายแสงและให้เคมี ก็เลยเอาเงินส่วนตัวและเพื่อนๆ ช่วยบริจาคซื้อที่ดินวัด สร้างที่พักให้ผู้ป่วยมะเร็งหนึ่งหลัง ถึงวันนี้มีคนไข้ผ่านบ้านปันรักกว่า 600 คน ได้เห็นว่า คนในบ้านปันรักรอดมากกว่าตายในเวลาอันสั้น ทำให้เราหยุดทำไม่ได้ ยิ่งพวกเขาไม่มีเงิน ก็ยิ่งต้องทำ"

ช่วงที่เธอกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง  หมอบอกว่า ก้อนมะเร็งของเธอไม่ใหญ่ขึ้น เพราะรู้จักทำใจให้มีความสุข และมีคนถามบ่อยมากว่า เป็นมะเร็งอีกรอบ ทำงานแบบนี้ทำไม

“ตอนนี้เรารู้ว่า ถ้ามีความทุกข์ จะเผชิญกับมันยังไง”

เธอออกตัวว่า บ้านปันรัก ไม่ใช่สถานพยาบาล รับเฉพาะคนป่วยมะเร็งยากจน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ที่อยู่ระหว่างรอฉายแสงและให้ยาเคมีในโรงพยาบาล หรือคนป่วยระยะสุดท้ายไม่ต้องการการเยียวยารูปแบบอื่น แต่จะช่วยดูแลแบบประคับประคอง เพื่อไปสู่การตายดี  โดยใช้ความรู้วิชาพยาบาลควบคู่กับการดูแลแบบมิตรภาพบำบัด ซึ่งเป็นแนวคิดของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงษ์ (อดีตเลขาธิการ สปสช.คนแรก เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด)

“เราก็นึกถึงตัวเอง ขนาดที่ว่าเรามีเงินเดือน มีทุกอย่าง รักษาเต็มที่ ยังเกือบไม่รอด ในบ้านปันรักจึงมีเรื่องดราม่าเยอะ อย่างผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งอยู่บ้านปันรัก สามีเป็นโรคไตอยู่ที่บ้าน หรือผู้หญิงคนหนึ่งเศร้ามาก ซักถามจนรู้ว่า มีลูกรออยู่ที่บ้านสี่คน เราก็ไปรับมาอยู่ด้วย”

คำถามแรกๆ ที่เธอถาม ผู้ป่วยมะเร็งยากจน และอยากมาพักที่บ้านปันรัก ก่อนเข้ากระบวนการฉายแสงและให้ยาเคมี ก็คือ คุณอยากอยู่หรืออยากตาย

“ต้องมีความปรารถนาที่อยากมีชีวิตอยู่ก่อน เราเองก็เคยคิดอยากตาย จนมารู้ว่า ยาวิเศษที่ช่วยเราได้คือ ยาใจ กำลังใจจากคนรอบข้าง บวกกับยาใจที่เราปรุงเอง จริงๆแล้วไม่มีใครอยากตาย เพราะเวลามีใครบอกว่า ที่ไหนรักษาหาย คนเหล่านั้นจะเดินทางไปทุกที่ เราก็เคยทำแบบนั้นเหมือนกัน

ดังนั้นมาที่นี่ ต้องเรียนรู้และฝึกฝนไปด้วยกัน ถ้ายังอยากหายใจต่อ เราจะคุยตั้งแต่สาเหตุการเกิดโรค ตัวตั้งหลักที่จะรักษาไปข้างหน้าคือตัวเรา ถ้าคนเราต้องการรอดและเดินทางมากกว่านี้ เราจะบอกว่ามีกี่เส้นทาง ต้องทำยังไง ก่อนอื่นคนไข้ต้องรู้จักตัวเองและเล่าความจริง

เธอบอกว่า ที่นี่มีทุกอย่าง ทั้งอาหาร ที่พัก การดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง แค่ตั้งใจรักษาและปฎิบัติ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

   “ถ้ามาบ้านปันรัก หากใครแข็งแรง ก็ต้องช่วยกันทำงาน ยกเว้นตอนให้ยา และสิ่งที่เราอยากให้ตระหนักรู้ ก็คือ การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติที่ตัวเราทำเอง ต้องแก้ไขที่ตัวคุณและใจคุณ สำหรับเราแล้ว การดูแลผู้ป่วยแบบนี้แทบจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลย มีคนไม่ป่วยเข้ามาที่นี่เยอะ แล้วบอกว่าอยากช่วย แต่ที่สุดคือ เราคนเดียวที่จัดการ”