ร่างก.ม.ประชารัฐ กรุยทาง 'ลุงตู่' โกยความนิยม

ร่างก.ม.ประชารัฐ กรุยทาง 'ลุงตู่' โกยความนิยม

การรุกคืบทาง “โซเชียลมีเดีย” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นสัญญาที่แจ่มชัด ถึงการกรุยทาง สู่ “สนามการเมือง” แบบฉบับ “นักเลือกตั้ง” ที่มักหาคะแนนนิยมหลากกลวิธี

แม้ “บิ๊กตู่” เเจงว่า เปิดช่องทางสื่อสารระบบโซเชียลมีเดียเพื่อรับฟังในปัญหาฐานะ รัฐบาลที่มาบริหารประเทศ แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นเป้าหมายสำคัญ คือ เช็คเรทติ้งเเละรู้ปัญหาหลากพื้นที่โดยพลัน

เเถมท้ายด้วยหลักการตลาดระยะต่อไปหลังจากรับรู้ ฟีดแบ็คแล้ว คือ ขั้นวางกลยุทธ์แก้ไขจุดอ่อน เพื่อนำทางไปสู่ “เป้าหมาย” กลยุทธ์ที่วางแผน โดยเฉพาะ “งานประชารัฐ” นอกจากการตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นศูนย์รวมเสียง “ส.ส.” แล้ว ยังมีกลยุทธ์ทางกฎหมายที่ วางเป็นหลักประกันให้ติดลมบนว่าบิ๊กตู่เเละคณะมองอนาคตที่จะเเก้ไขปัญหาได้จริง?

นั่นคือ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม” ที่แม้ขณะนี้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” จะยังไม่ให้ความเห็นชอบ เพราะอยู่ระหว่างพิจารณา

แต่เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ การปลุกปั้น “โครงการแจกบัตรคนจน” จากเดิมเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นภายใต้มติ ครม. ให้เป็นนโยบายที่มีกฎหมายค้ำประกันความถาวร

ล่าสุดนั้น “กมธ.ฯ ที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้” ดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว และจ่อนำเข้าที่ประชุม สนช. พิจารณาวาระสอง และวาระสาม ในเดือนพ.ย.นี้ และ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายช่วงเดือน ธ.ค.

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเวลาเหมาะเจาะกับเงื่อนเวลาทางการเมือง ที่จะถูกปลดล็อก ให้ “ฝ่ายการเมือง” แข่งขันในสนามเลือกตั้ง หาคะแนนเสียงเเต่อยู่ที่ว่าชาวบ้านจะวางใจให้มันบรรลุได้หรือไม่กับสิ่งที่ดำเนินการไว้

กับอีกเรื่องหนึ่ง ที่ “สนช.” จะนำเข้าสู่การประชุมสัปดาห์นี้ คือ พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่....) พ.ศ.... โดยสาระสำคัญ คือ ให้ “สถาบันการเงิน รวมถึง ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์” นำส่งรายงานความเคลื่อนไหวทางบัญชีของบุคคล ที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษ คือ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน เกิน 3,000 ครั้งต่อปี และ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี ตั้งแต่ 200 ครั้งและมียอดรวมธุรกรรมเกิน 2 ล้านบาท ต่อกรมสรรพากร

ร่างกฎหมายนี้มีไว้เพื่อให้ “กรมสรรพากร” ตรวจสอบ ติดตามและจัดเก็บภาษี ซึ่งประเด็นนี้มุ่งเน้นไปยัง การซื้อ-ขาย ตลาดออนไลน์ ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน แถมการแก้ไขกฎหมายนี้ยังเพิ่มบทลงโทษ ผู้ที่ไม่รายงานความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถูกลงโทษ เป็นเงินค่าปรับไม่เกิน 1 แสนบาทและต้องถูกปรับต่อไปวันละ หมื่นบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง