ประชากรโลกเกือบครึ่งรายได้ไม่ถึง 180 บ./วัน

ประชากรโลกเกือบครึ่งรายได้ไม่ถึง 180 บ./วัน

ธนาคารโลก ชี้ เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังคงใช้ชีวิตด้วยเงินต่ำกว่า 180 บาทต่อวัน ในขณะที่สัดส่วนของความยากจนเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจที่มั่งคั่งมากขึ้น แม้การลดความยากจนแบบสุดขีดมีความคืบหน้า

ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานที่จัดทำปีละ 2 ครั้ง วันนี้ (17 ต.ค.) ระบุว่า ธนาคารโลกใช้มุมมองที่ครอบคลุมมากกว่าเดิมเพื่อดูว่าประเทศใดกำลังถดถอย ถึงแม้สัดส่วนของผู้ที่ยากจนแบบสุดขีดซึ่งถูกนิยามด้วยการมีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ (61.8 บาท) ต่อวัน จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ตาม 

รายงานฉบับนี้พบว่า ภายใต้เกณฑ์ความยากจนที่ถูกขยายเพิ่มเติม จำนวนผู้ยากจนทั่วโลกยังคงสูง “อย่างไม่อาจยอมรับได้” ขณะที่ผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ถูกแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมในหลายภูมิภาคและหลายประเทศ

ถึงแม้การเติบโตทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีนี้จะซบเซา แต่จำนวนคนยากจนกลับลดลงกว่า 68 ล้านคนระหว่างปี 2556-2558 ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับประชากรของไทยหรือสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความคืบหน้าดังกล่าว แต่รายงานระบุว่า แนวโน้มปัจจุบันบ่งชี้ว่า เป้าหมายของธนาคารโลกที่จะลดความยากจนสุดขีดให้เหลือน้อยกว่า 3% ภายในปี 2573 อาจไม่สามารถเป็นจริงได้

“สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ความยากจนแบบสุดขีดกำลังฝังรากลึกในประเทศจำนวนหนึ่ง และอัตราความเร็วในการลดลงของความยากจนจะเชื่องช้าลงอย่างมีนัยสำคัญเร็ว ๆ นี้” รายงาน ระบุ

ด้วยเกณฑ์รายได้ 5.50 ดอลลาร์ (179 บาท) ต่อวัน ความยากจนทั่วโลกจึงลดลงมาอยู่ที่ 46% จาก 67% ในช่วงปี 2533-2558 เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารโลกรายงานว่า ความยากจนสุดขีดลดลง 10% ในปี 2558

ขณะที่การผงาดขึ้นของจีน เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ทำให้อัตราความยากจนลดลง 0.6% มาอยู่ที่ 35% แต่ภูมิภาคนี้ไม่น่าจะคงอัตราการลดลงนี้ได้ต่อไปในขณะที่การเติบโตเริ่มช้าลง

นอกจากนั้น รายงานยังชี้ว่า ความยากจนกำลังเริ่มฝังรากในแอฟริกาใต้ซาฮารา ซึ่ง 84.5% ของประชากรยังคงยังชีพด้วยรายได้ไม่ถึง 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน

แม้ว่าเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว 60% ของประชากรโลกอาศัยในประเทศรายได้ต่ำ แต่จำนวนดังกล่าวได้ลดลงมาอยู่ที่ 9% ภายในปี 2558

นอกจากนั้น ธนาคารโลกเตือนว่า ในหลายประเทศในกลุ่มนี้ คนยากจนไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างเท่าเทียมจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ