‘กรุงไทย’พึ่งเอไอ สานฝันธนาคารแห่งอนาคต

‘กรุงไทย’พึ่งเอไอ  สานฝันธนาคารแห่งอนาคต

แชทบอทที่ผนวกรวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และโอซีอาร์ ช่วยให้การประเมินเอกสารธุรกรรมทางการเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นไอเดียคนรุ่นใหม่จาก 5 ประเทศที่แก้โจทย์ของธนาคารกรุงไทย 1 ใน 5 ผู้ให้การสนับสนุนและตั้งโจทย์การแข่งขันรูปแบบแฮ็คคาธอนในไอเอสทีเอส 2018

ธนาคารกรุงไทยมีพันธกิจที่จะเดินหน้าเพื่อเป็นธนาคารแห่งอนาคต (Future Banking) จึงต้องมองหาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อที่จะให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น โดยโฟกัสไปที่ AI Chatbot และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นแนวโน้มของเทคโนโลยีอนาคตในอุตสาหกรรมการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด

“เอไอ” ช่วยลูกค้าธนาคาร

“เรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ตอนนี้ทุกธนาคารมีใช้ในระบบหลังบ้านแล้ว ในขณะที่แชทบอทและโอซีอาร์อยู่ระหว่างการเรียนรู้ โดยจะช่วยให้ลูกค้าได้รับคำตอบหรือข้อมูลที่ถามได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้คอลเซ็นเตอร์ ในขณะเดียวกันก็ลดใช้กระดาษและเวลาในการส่งข้อมูล เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่” ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าว

ยกตัวอย่าง การขอสินเชื่อในระบบปกติต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่การส่งเอกสารเพื่อทำเรื่องขอสินเชื่อที่สำนักงาน หลังจากนั้นรอและโทรเช็คความคืบหน้าผ่านคอลเซ็นเตอร์ แต่หากสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยตั้งแต่การส่งเอกสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จากนั้นล็อคอินด้วยลายนิ้วมือ ใบหน้าหรืออื่นๆ และตรวจสอบความคืบหน้าของการขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องเสียเวลาตามเรื่องกับคอลเซ็นเตอร์หรือเดินทางไปที่สำนักงาน

ปัจจุบันระบบก้าวล้ำจากเทคโนโลยีโอซีอาร์ (OCR : Optical character recognition) ไปเป็น “สมาร์ทโอซีอาร์” แทนที่จะแปลงไฟล์ภาพเอกสารอย่างเดียว ก็สามารถอ่านเอสเอ็มเอส/ภาพจากโทรศัพท์มือถือ แล้ววิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเชื่อมต่อเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเพื่อวิเคราะห์ความตรงกันกับภาพบัตรประจำตัวประชาชน

ความสะดวกรวดเร็วที่เกิดขึ้น จะทำให้คอนเซ็ปต์ 3-1-0 ที่จีนใช้เกิดขึ้นได้ในไทย คือ ส่งและรับข้อมูลเอกสารที่ต้องการใน 3 วินาที ดำเนินการวิเคราะห์ 1 วินาที โดยใช้คนดำเนินการ 0 คน หากธนาคารหรือสถาบันทางการเงินทำได้ ก็จะต่อยอดสู่การให้บริการของภาครัฐได้ในอนาคต

“กิจกรรมไอเอสทีเอส 2018 กรุงไทยต้องการที่จะเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 20 ให้กับเด็กรุ่นใหม่ อีกทั้งการแก้โจทย์ภายใน 7 วัน เป็นการเร่งศักยภาพของเด็กในการพัฒนาไอเดียนวัตกรรม แก้โจทย์ปัญหา และหลายคนทำมากกว่าโจทย์ที่ได้รับ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเห็นศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่และมีโอกาสที่จะดึงมาร่วมงานในอนาคตด้วย” ธีรวัฒน์ กล่าว

ติดปีกเยาวชนไทย-เทศ

ISTS - International Seminar on Technology for Sustainability 2018 เป็นความร่วมมือระหว่าง สจล. กับ 3 สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีในญี่ปุ่น มีนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 30 ทีมจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์และอินโดนีเซีย จะได้รับโจทย์ปัญหาทางธุรกิจที่แก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจาก 5 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ เรือเร็วลมพระยา, พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น, ออโต้เดสก์, เอดับบลิวเอส เอ็ดดูเคชั่น และ ธนาคารกรุงไทย ที่มุ่งเน้น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ สมาร์ทโฮมและสมาร์ทซิตี้, โดรน, การเงิน, ปัญญาประดิษฐ์, วีอาร์/เออาร์ที่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจุบัน

พรรณรมณ กัณหะสิริ ตัวแทนทีม KTB#3 กล่าวว่า แชทบอทเป็นโปรแกรมที่ใช้ในไลน์ (Line) และแมสเซนเจอร์ (Messanger) จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยสร้างเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมต่อ 2 แพลตฟอร์มให้สามารถค้นหาข้อมูลระหว่างไลน์และแมสเซนเจอร์ ในขณะเดียวกันก็ลิงก์ข้อมูลเข้ากับเทคโนโลยีโอซีอาร์ที่แปลงไฟล์ภาพเอกสารให้เป็นไฟล์ข้อความโดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องพิมพ์

ขณะที่ ธนทัต ทรงเพ็ชร์มงคล ตัวแทนทีม KTB #6 ก็มีไอเดียที่ใกล้เคียงกัน แต่จุดที่สร้างความแตกต่างนั้น แทนที่จะทำเหมือนทุกคนที่พุ่งเข้าหา Loan Factory โดยใช้แชทบอทและโอซีอาร์ เขาเลือกที่จะเพิ่มขั้นตอนการส่งข้อมูลเข้าสู่โปรแกรมที่เป็นแมชชีนเลิร์นนิ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบและแยกฟอร์มแมตที่แตกต่างกันของเอกสารหรือข้อมูล รูปแบบข้อมูลและอื่นๆ ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำสูง มีความผิดพลาดน้อย

จุดเด่นในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้คือ ลดระยะเวลาดำเนินการ ลดความผิดพลาดที่จะเกิดทั้งกับธนาคารและลูกค้า ที่สำคัญคือ ลดปัญหาของลูกค้าที่ต้องเสียเวลากรอกข้อมูลต่างๆ ลงถึง 50% จึงสามารถตอบโจทย์ในเรื่องธนาคารแห่งอนาคตได้อย่างชัดเจน