อีก 2 นัด 'ร่างกม.ประชารัฐ' เข้าสนช.คาดพ.ย.ผ่านพิจารณา

อีก 2 นัด 'ร่างกม.ประชารัฐ' เข้าสนช.คาดพ.ย.ผ่านพิจารณา

"วัลลภ" ระบุ ร่างกม.ประชารัฐ รอพิจารณาอีก 2 ครั้ง ก่อนส่งให้ สนช. พิจารณาวาระสองและสาม พ.ย. นี้ ปัดวางไทม์ไลน์สอดคล้องช่วงหาเสียงการเมือง เผยปรับแค่หลักเกณฑ์ใช้กองทุน ส่วนขององค์กร,มูลนิธิ ใช้ยึดหลักเกณฑ์จำเป็นแท้จริง-หน่วยงานต้องมีระเบียบรองรับ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า กมธ.ฯ พิจารณาเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จและเหลือการประชุมอีกเพียง 2 นัดก่อนเข้ากระบวนการและบรรจุเข้าวาระประชุมสนช. วาระสองและวาระสาม ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะที่การพิจารณาเนื้อหาส่วนใหญ่ยึดตามร่างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอและปรับแก้บางส่วนเพื่อให้ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 16 ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อประชารัฐสวัสดิการ ตามร่างเดิมกำหนดให้ใช้จ่ายเงิน ใน 3 ประเด็น คือ 1.ช่วยเหลือประชาชนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเดิม, 2. สนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ซึ่งหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท และ 3.การดำเนินงานและบริหารกองทุนตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ โดย กมธ. ได้บัญญัติความเพิ่มในการใช้กองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการบริการทางสังคม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะลำบากที่หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยเหลือตามหน้าที่

"สำหรับโครงการที่จะขอรับเงินกองทุน เพื่อไปช่วยประชาชนในภาวะลำบาก ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกติกา ที่กำหนดขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้องค์กรและโครงการต่างๆ นั้นช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง และตามความจำเป็นที่แท้จริง ขณะที่รายละเอียดค่าใช้จ่าย ต้องมีระเบียบของกระทรวงมารองรับด้วย" นายวัลลภ กล่าว

นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ที่จะเสนอให้ สนช. พิจารณาวาระสอง และวาระสาม เดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะผ่านวาระสามในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ไม่มีเจตนาแฝงใดทางการเมือง หรือการช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะขั้นตอนพิจารณานั้นเป็นไปตามขั้นตอนที่สนช. พิจารณากฎหมายปกติ อย่างไรก็ตามเหตุผลสำคัญที่ต้องพิจารณาร่างพ.ร.บฯ เพื่อใช้รองรับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันให้เป็นนโยบายที่ถาวร หากในอนาคตจะมีผู้แก้ไข ต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายเสนอต่อสภาฯ ไม่ใช่ใช้มติครม. ยกเลิก