'สมรภูมิโซเชียล' กลยุทธ์สู้เลือกตั้ง

'สมรภูมิโซเชียล' กลยุทธ์สู้เลือกตั้ง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ การเลือกใช้สื่อออนไลน์ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการสื่อสารมากกว่าสื่อประเภทอื่นๆ

โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นขณะนี้ เราจะเห็นภาพของบรรดาพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่เลือกใช้ช่องทางดังกล่าว สื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน เพื่อความรวดเร็วและแพร่กระจายออกไปได้ในวงกว้าง

000 ไม่เว้นแม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ล่าสุดได้เปิดเฟซบุ๊ค เพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ www.prayutchan-o-cha.com รวมถึงช่องทางต่างๆ ทั้งทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม เพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสาร

000 การใช้ช่องทางดังกล่าวของ“ บิ๊กตู่” ตามมาด้วยเสียงตอบรับทั้งเสียงชื่นชม และการแสดงความเห็นขอกลุ่มเห็นต่าง

000​จริงอยู่ที่การเลือกใช้ช่องทางดังกล่าวจะหวังผลเพื่อการ “พีอาร์” นโยบายและผลงานรัฐบาล แต่อีกนัยหนึ่งหนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการหวังผลทางการเมืองในอนาคต และเป็นการตอกย้ำท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ก่อนหน้านี้ออกมาระบุว่า “สนใจการเมือง”

000จังหวะการก้าวของ “บิ๊กตู่” ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดตาม1.7แสนคน แม้จะช้าไปกว่าคู่แข่งอาทิ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า6ล้านคน , อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผู้ติดตาม2.2ล้านคน หรือแนวร่วมอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งมีผู้ติดตาม 2.7 ล้านคน

000 แต่ทว่า การมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ประกอบกับความได้เปรียบในการลงพื้นที่พบปะประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ในขณะที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถลงพื้นที่หาเสียงได้ ตรงนี้จึงถือเป็น “แต้มต่อ” ที่จะเป็นแรงหนุนและส่งผลไปยังสนามการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่จะเป็นพรรคหลักในการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์หวนคืนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง

000 ดังนั้นแม้จะก้าวช้าไปกว่าคูแข่งหลายก้าว แต่การมีอำนาจรัฐในมือดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่สนใจหรือกังวลในเรื่องดังกล่าว

000 ไม่แปลกที่พล.อ.ประยุทธ์ หรือบรรดานักการเมืองหรือพรรคการเมืองจะเลือกใช้สื่อโซเชียลในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ประเด็นสำคัญที่มากกว่าคือ จุดประสงค์ว่าใช้สื่อเพื่ออะไร?

000 ประเด็นนี้มีเสียงสะท้อนมาจากนักวิชาการอาทิ มานะ ตรียาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มองว่า การใช้สื่อโซเชียลอย่าใช้แค่ “พูด” บอกเล่า สื่อสาร โฆษณาชวนเชื่อข้อมูลข่าวสารแบบสื่อดั้งเดิม อันเป็นการสื่อสารทางเดียวเป็นหลักแต่อยากให้ใช้ “การฟัง” เสียงจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ แน่นอนว่า มันย่อมมี “เสียง” ขัดหู หรืออ่านดูขัดตาก็ควร “เปิดใจให้กว้าง”

000 ใกล้เลือกตั้ง เราจะได้เห็นภาพเหล่านี้ที่ดูเหมือนว่าจะทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปลดล็อกพรรคการเมืองในช่วงเดือนธ.ค. ที่พรรคการเมืองจะสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้เมื่อถึงเวลานั้น เราคงจะได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวผ่านช่องทางเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น!