ถก 5 มิติความปลอดภัยของนักเรียน

ถก 5 มิติความปลอดภัยของนักเรียน

กอปศ.ถก 5 มิติความปลอดภัยของนักเรียนและสวัสดิภาพ ชี้ถือเป็นระบบสำคัญมากกว่าการจัดการเรียนการสอน ย้ำต้องกระตุ้นและสร้างผู้รับผิดชอบ สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เกิดการตระหนักรู้ ใช้ดิจิทัลแพลทฟอร์มในการสร้างองค์ความรู้และระบบเฝ้าระวัง

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.61 นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในภาพใหญ่ ซึ่งมีความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่ระบุว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนอย่างเดียวแต่เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิตของเด็กทุกกลุ่ม แต่ในประเด็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิตที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมบางประเด็นของการดำเนินการการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการสร้างระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาและระบบสวัสดิภาพของนักเรียนในโรงเรียน เพราะ กอปศ.เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ แต่เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษามีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นในเร็วๆนี้จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำไปปฎิบัติต่อไป

น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ฉบับใหม่ ในมาตรา 54 ระบุว่า ให้สถานศึกษาจัดให้มีบริการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาทั้งเรื่องการสร้างระบบความปลอดภัยและสวัสดิภาพนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงระบบขนส่งผู้เรียน ซึ่งเมื่อพูดถึงความปลอดภัยในสถานศึกษาทุกวันนี้จะเห็นว่า มีเหตุนักเรียนรุ่นพี่ตบตีรุนน้องที่เป็นเด็กพิเศษ ดังนั้นประเด็นความปลอดภัยเหล่านี้จึงถือเป็นระบบสำคัญที่มากกว่าการจัดการเรียนการสอน เพราะเมื่อโรงเรียนทำให้เด็กรู้สึกว่ามาเรียนแล้วไม่ปลอดภัยแม้จะจัดการเรียนการสอนดีแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้

ทั้งนี้ โดยได้มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมิติความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียน 5 ด้าน ได้แก่ 1.อุบัติเหตุทั้งกายภาพสิ่งแวดล้อมเช่น เครื่องเล่น ปกรณ์ เกิดตลอดเวลาแต่เราไม่ทราบ 2.ความรุนแรงในโรงเรียนทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกันระหว่างเด็กนักเรียน ความรุนแรงในโลกโซเชียล และความรุนแรงระหว่างครูและเด็ก 3.ความรุนแรงจากบุคคลในครอบครัว 4.ความปลอดภัยในสถานศึกษา เช่น สุขอนามัยหรือมลพิษในโรงเรียน และ 5.ภัยพิบัติและโรคติดต่อในโรงเรียน ซึ่งมิติเหล่านี้เราจะต้องเร่งสร้างความตระหนักให้มากขึ้น เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กมีพัฒนาทางการทางร่างกายคุณธรรมและจริยธรรมได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องกระตุ้นและสร้างผู้รับผิดชอบ และสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เกิดการตระหนักรู้ โดยคณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องมาดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องเป็นฐานให้ความรู้มิติความปลอดภัยของนักเรียน 5 ด้านให้แก่ชุมชนและผู้ปกครอง เพราะมิติเหล่านี้มีผลกระทบต่อเด็กในระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกันการใช้ดิจิทัลแพลทฟอร์มในการสร้างองค์ความรู้และระบบเฝ้าระวัง รวมถึงระบบติดตามเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวกับกับการสร้างระบบความปลอดภัยให้แก่นักเรียน

“กอปศ.อยากให้มีการผลักดันให้โรงเรียนมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง โดยการใช้คณะกรรมการสถานศึกษาเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย และในอนาคตเมื่อร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีผลบังคับใช้จะต้องมีการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้มีผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยโดยตรงเหมือนเป็นการประกันคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งเราจะต้องสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสถานศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง” น.ส.ดารณี กล่าว