กรุงศรีมองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85

กรุงศรีมองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85

กรุงศรีมองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85 จับตาผลกระทบค่าเงินตลาดเกิดใหม่

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.76 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมากถึง 2.3 หมื่นล้านบาทแต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 4.9 พันล้านบาท ขณะที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวในลักษณะแบนราบ (Flatten)


ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญ ขณะที่ค่าเงินยูโรและปอนด์ได้แรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ขณะที่เงินเยนซึ่งมักถูกมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างรุนแรง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบหลายปี การซื้อขายจะยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยนักลงทุนจะให้ความสนใจการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบล่าสุด ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย การจัดทำงบประมาณอิตาลี รวมถึงการเจรจา Brexit และการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวโทษจีนว่าเป็นนักปั่นค่าเงินอาจช่วยผ่อนคลายบรรยากาศการค้าโลกลงได้ชั่วคราวแต่การฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงอาจเป็นไปอย่างจำกัด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญแรงกดดันให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยไทยแตกต่างจากประเทศตลาดเกิดใหม่บางแห่ง เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในเอเชียและเอื้อให้ธปท.สามารถรักษา "นโยบายการเงินให้เป็นอิสระได้ในระดับหนึ่ง" แม้ว่าเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจกับความเสี่ยงจากผลกระทบของตลาดเกิดใหม่ ความเห็นดังกล่าวสะท้อนท่าทีที่ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ไทยไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปกป้องค่าเงิน แต่แรงส่งเชิงบวกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพมีสัญญาณสะสมความเปราะบางในบางจุด ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักสำหรับการตัดสินใจเริ่มปรับสมดุลนโยบายการเงินก่อนสิ้นปีนี้