TFG - ซื้อเก็งกำไร

TFG - ซื้อเก็งกำไร

ความคาดหวังต่อกำไรที่เพิ่มขึ้นจากเดิม

เราปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น TFG จาก “ถือ” เป็น “ซื้อเก็งกำไร” จากการคาดการณ์การฟื้นตัวของกำไรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จนถึงปี 2562 ราคาไก่และหมูของประเทศไทย รวมถึงราคาหมูของประเทศเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปริมาณยอดส่งออกและยอดขายอาหารสัตว์ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญและภาวะต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำถือว่าเป็นปัจจัยบวกหนุนกำไรในช่วงครึ่งหลังปี 2561 จนถึงปี 2562 อัพไซด์ของกำไรจะมาจากปริมาณยอดส่งออกไปยังประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น และราคาหมูในประเทศเวียดนามที่สูงกว่าประมาณการของเรา

ส่องกล้องไตรมาส 3/61—กำไรฟื้นตัวแรง QoQ

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/61 ที่ 500 ล้านบาท ลดลง 29% YoY แต่เพิ่มขึ้น 125% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษ ซึ่งได้แก่ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 40 ล้านบาทและกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพ 30 ล้านบาท เราคาดกำไรหลักในไตรมาสนี้ที่ 510 ล้านบาท ลดลง 31% YoY แต่เพิ่มขึ้น 56% QoQ ประมาณการใหม่ในครั้งนี้ถือว่าสูงกว่าประมาณการก่อนหน้าซึ่งเราคาดไว้ที่ 450 ล้านบาทเนื่องจากราคาเฉลี่ยของไก่และหมูในประเทศไทยที่สูงกว่าคาดถ้าเปรียบเทียบ QoQ (ท่ามกลางปัจจัยด้านฤดูกาลช่วงโลว์ซีซั่น) ถึงแม้ว่ากำไรหลักจะยังคงมีแนวโน้มลดลง YoY ตามราคาไก่ในประเทศที่ลดลงและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่เราเห็นการฟื้นตัวของกำไรหลัก QoQ อย่างต่อเนื่องมายังไตรมาส 3/61 โดยมีปัจจัยบวกผลักดันมาจากราคาไก่และหมูในประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้น ปริมาณยอดส่งออกและราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและจีน) และปริมาณยอดขายอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด

เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/61 ที่ 11.5% เพิ่มขึ้นจาก 9.5% ในไตรมาส 2/61 แต่ลดลงจาก 17.6% ในไตรมาส 3/60 เราคาดปริมาณยอดส่งออกในไตรมาส 3/61 ที่ 20,000 ตัน เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 106% YoYแและ 47%QoQ เราคาดราคาขายเฉลี่ยสำหรับไก่ในไตรมาส 3/61 ที่ 38แบาทต่อกก. ลดลง 9%YoY แต่เพิ่มขึ้น 4%QoQ และราคาขายเฉลี่ยสำหรับหมูในในไตรมาส 3/61 ที่ 65 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 16%YoY และ 3%QoQ เราคาดปริมาณยอดขายอาหารสัตว์ในไตรมาส 3/61 ที่ 77,426 ตัน เพิ่มขึ้น 52%YoY และ 12%QoQ

ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มาจากสหภาพยุโรปและจีนเป็นหลัก

ข่าวอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับเนื้อปนเปื้อนในประเทศบราซิลได้ส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของสหภาพยุโรปมีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการห้ามนำเข้าเนื้อไก่จากโรงงานแปรรูปของประเทศไทยจำนวน 4 แห่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ดังนั้นเราจึงคาดว่า TFG มีแนวโน้มส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 นอกจากนี้บริษัทยังได้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่ (เช่น ตีนและปีก) ไปยังประเทศจีนโดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนส.ค. เป็นต้นมา เราคาดว่าปริมาณยอดส่งออกทั้งหมดของ TFG ในปี 2561 ที่ 60,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 62% YoY จาก 37,000 ตัน

ในปี 2560 ปริมาณยอดส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มีแนวโน้มอยู่ที่ 35,000 ตัน เพิ่มขึ้น 124% YoY และ 43% HoH สำหรับในปี 2562 เราคาดปริมาณยอดส่งออกสำหรับปี 2562 ที่ 70,000 ตัน เพิ่มขึ้น 17% YoY จากไก่แปรรูปไปยังประเทศญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้น 10-15% YoY) และไก่สดแช่แข็งและชิ้นส่วนไก่ไปยังประเทศจีน (เพิ่มขึ้น 25% YoY) เราคาดว่าปริมาณยอดส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2562 เนื่องจากผู้ประกอบการไก่ส่งออก 4 รายที่ถูกห้ามส่งออกไปยังสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้อาจจะกลับมาส่งออกใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น (ผ่านร้านอาหาร) และประเทศจีน (ปริมาณยอดส่งออกที่เข้ามาเต็มปี) ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของปริมาณยอดส่งออกสำหรับในปี 2562 ปริมาณยอดส่งออกไก่ของ TFG ไปยังสหภาพยุโรปคิดเป็น 60% ของปริมาณยอดส่งออกไก่ทั้งหมดของ TFG ตามมาด้วยญี่ปุ่น (30%) และอื่น ๆ (10%)

ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในเดือนพ.ย.-ธ.ค.2561

ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ ทั้งราคาไก่และหมูที่อ่อนตัวลง ถือว่าเป็นปัจจัยลบด้านฤดูกาลระยะสั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับฝนที่ตกหนักในเดือนก.ย.และต.ค. และเทศกาลกินเจ (8-17 ต.ค. สำหรับในปีนี้) ราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศปรับตัวลดลง 11% จาก 36.5 บาท/กก. ในช่วงปลายเดือน ส.ค.และต้นเดือนก.ย. เหลือ 32.5 บาท/กก. ในช่วงปลายเดือนก.ย.จนถึงปัจจุบัน ราคาหมูในประเทศปรับตัวลดลง 7% จากจุดสูงสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 66 บาท/กก. ในช่วงปลายเดือนส.ค.และต้นเดือนก.ย. ลงมาอยูที่ 61.6 บาท/กก. ณ ปัจจุบัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุปทานเนื้อสัตว์ในประเทศที่ลดลงสำหรับไก่ (ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561) และหมู (ตั้งแต่ไตรมาส 2/61) เราจึงคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ไก่และหมูมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนพ.ย.หรือธ.ค.2561 เป็นต้นไป

โรคไข้หวัดหมูแอฟริกันส่งผลบวกต่อราคาหมูในแถบภูมิภาคในระยะยาว

ถึงแม้ว่ารายได้จากธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามจะคิดเป็นเพียงแค่ 1-2% ของยอดขายรวมของ TFG แต่ราคาหมูในประเทศเวียดนามที่ยังคงยืนในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ 51,000 ดองต่อกก. ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่หนุนอัตราการทำกำไรของธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามของ TFG ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และเนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศเวียดนามได้ออกจากตลาดไปแล้ว (ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถต้านทานการลดลงของราคาหมูในประเทศเวียดนามได้ดีกว่าผู้ประกอบการรายย่อย) เราคาดว่าราคาหมูในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มยืนในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2562 การระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกันในประเทศรัสเซีย จีน ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในช่วงปี 2561 ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่จะหนุนราคาหมูในแถบภูมิภาคให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากการหายไปของอุปทานหมูและวงจรการเลี้ยงหมูซึ่งยาวมากถึง 9-12 เดือน

ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิจากการปรับราคาขายผลิตภัณฑ์และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น

เนื่องจากการคาดการณ์กำไรไตรมาส 3/61 และกำไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม เราจึงทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 เพิ่มขึ้นอีก 9% (มาอยู่ที่ 870 ล้านบาท) และปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 14% (มาอยู่ที่ 1.33 พันล้านบาท) เพื่อสะท้อนอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับธุรกิจไก่ที่เพิ่มขึ้น (จาก 9% ไปเป็น 11%) และอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับธุรกิจหมูที่เพิ่มขึ้น (จาก 9% เป็น 11.5%) เราทำการปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2562 แทน และได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 5.25 บาท (อิงกับอัตราส่วน PER ที่ 20 เท่า)